กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
กระทรวงดิจิทัลฯ คล้องแขน กระทรวงพาณิชย์ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ลงนาม MOU ผลักดันโครงการ "โชห่วย 4.0" หมายมั่นปั้นร้านค้าชุมชนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลบริหารจัดการ ตั้งแต่การสั่งซื้อสินค้าจากผู้ผลิต ไปจนถึงการรับชำระเงินส่งสินค้าไปยังผู้บริโภค มั่นใจการบูรณาการการทำงานครั้งนี้ ต่อยอดนโยบายยกระดับเศรษฐกิจชุมชน
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยถึงการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการโชห่วย 4.0 ระหว่างกระทรวงดิจิทัลฯ กระทรวงพาณิชย์ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ว่า ทั้ง 5 หน่วยงาน มีเจตนารมณ์ในการร่วมกันผลักดันและสนับสนุนร้านค้าโชห่วยชุมชน ซึ่งโครงการฯ ดังกล่าว จะนำเทคโนโลยี e-Commerce มาใช้ในการสั่งซื้อสินค้าของร้านค้าขนาดเล็กในชุมชนไปยังผู้ผลิต ซึ่งทุกฝ่ายเห็นชอบตรงกัน นำมา ซึ่งประโยชน์ต่อการดำเนินการตามภารกิจของกระทรวงดิจิทัลฯ กระทรวงพาณิชย์ บจ.ไปรษณีย์ไทย ธนาคารออมสิน และธ.ก.ส. ซึ่งทุกฝ่ายได้ตกลงร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงฯ นี้ขึ้น โดยแต่ละหน่วยงานมีหน้าที่ ดังนี้
กระทรวงดิจิทัลฯ มีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และกำกับดูแล การนำระบบงานดิจิทัลสู่ร้านค้าชุมชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการพัฒนาความรู้ของประชาชนให้มีความสามารถในการประยุกต์ใช้ และสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
กระทรวงพาณิชย์ ทำหน้าที่ในการเจรจากับผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ เพื่อจัดหาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นที่นิยมของประชาชนในราคาที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมยังเป็นผู้คัดเลือกร้านค้าที่อยู่ในโครงการธงฟ้าประชารัฐที่เหมาะสมเพื่อเข้าร่วมโครงการโชห่วย 4.0 และบริหารความสัมพันธ์กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ
บจ.ไปรษณีย์ไทย ทำหน้าที่ในการพัฒนาช่องทางการรับคำสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ แบบ B2B (Business to Business) ผ่านแอปพลิเคชั่น (Application) ให้กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้สามารถสั่งซื้อสินค้าได้สะดวกยิ่งขึ้น พร้อมทั้งการบริหารสินค้าคงคลังให้อยู่ในจำนวนที่เหมาะสม (Safety Stock) รวมถึงการบริหารคำสั่งซื้อสินค้า โดยพัฒนาการเชื่อมต่อระบบระหว่างคำสั่งซื้อ และ Warehouse Management System (WMS) แบบรายชั่วโมงในระยะแรก และแบบ Real Time ในระยะต่อไป โดยนำการบริหารด้านโลจิสติกส์ เข้ามาประกอบด้วย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของระบบบริหารคลังสินค้า ซึ่งรวมถึงการบริหารสินค้าเข้า-ออก อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย รวมถึงการจัดเก็บสินค้าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ตลอดจนการพัฒนาระบบชำระเงินระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ประกอบด้วยระบบโอนเงินผ่านธนาคาร การใช้บัตรเครดิต ระบบบัตรเงินสด และช่องทางการชำระเงินอื่นๆ เป็นต้น
ด้านธนาคารออมสิน และธ.ก.ส. ทำหน้าที่ในการสนับสนุนด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคาร ให้กับเจ้าของร้านที่เข้าร่วมโครงการฯ ภายใต้กฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบ หรือตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด พร้อมทั้งการพัฒนาระบบการสะสมแต้มเพื่อแลกซื้อสินค้าชุมชนด้วย
ทั้งนี้ จากความร่วมมือของ 5 หน่วยงานในครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดโครงการระบบงานร้านค้าปลีก (Point of Sale : POS) ของ บจ.ไปรษณีย์ไทย รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงดิจิทัลฯ และโครงการร้านธงฟ้าประชารัฐ ของกระทรวงพาณิชย์ ตามความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี อีกทั้งยังเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อผลักดันเทคโนโลยีดิจิทัลให้เข้าไปมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระดับชุมชน ลดความเลื่อมล้ำของประชาชน ตลอดจนการลดช่องว่างด้านการแข่งขัน กระจายความรู้ด้าน e-Commerce สร้างรายได้ไปสู่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ให้สามารถเติบโตด้วยตนเองอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการผลักดันประเทศไปสู่การเป็น "ไทยแลนด์ 4.0" ซึ่งการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมระดับชุมชน ถือเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันผลักดัน