กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 42 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รับมือภาวะฝนตกหนักเพิ่มขึ้น อาจเกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ในช่วงวันที่ 3 – 7 ตุลาคม 2561 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย รวมถึงจัดชุดเคลื่อนที่เร็วและเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตลอด 24 ชั่วโมง
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า กอปภ.ก. โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ติดตามสภาวะอากาศ ปริมาณฝนสะสม สถานการณ์น้ำท่า และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เชิงพื้นที่ กอปรกับกรมทรัพยากรธรณีได้ออกประกาศ เรื่อง เฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ระหว่างวันที่ 2 – 4 ตุลาคม 2561 พบว่า พื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้มีฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้หลายพื้นที่เกิดอุทกภัย และมีภาวะเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดดินถล่ม เนื่องจากดินในหลายพื้นที่เริ่มชุ่มน้ำ ทำให้มีความอ่อนไหว โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ พื้นที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ที่มีสถานการณ์น้ำท่วมขังอยู่เดิม รวมถึงปริมาณฝนตกสะสมในพื้นที่ อาจเกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม ในช่วงวันที่ 3 – 7 ตุลาคม 2561 ปภ. จึงได้ประสาน 42 จังหวัด แยกเป็น
พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก 41 จังหวัด ประกอบด้วย
ภาคเหนือ 14 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน สุโขทัย พิจิตร กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ และอุทัยธานี
ภาคกลาง 13 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี นครนายก สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
ภาคใต้ 14 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ดินโคลนถล่ม 13 จังหวัด ประกอบด้วย
ภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย และตาก
ภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย อีกทั้งตรวจสอบสิ่งก่อสร้างและป้ายโฆษณาให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ตัดแต่งกิ่งไม้บริเวณริมถนนและพื้นที่ชุมชนเพื่อป้องกันการล้มทับ ทั้งนี้ สามารถติดต่อแจ้งเหตุและติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสาขาในพื้นที่ หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป