กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
สหกรณ์จังหวัดราชบุรี เผย 1 ปี ได้ส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินในพื้นที่ป่าเขาบินกว่า 100 ไร่ โดยส่งเสริมให้ทำประมง-เลี้ยงไก่-จักสานตะกร้า เพื่อสร้างงาน มีรายได้เสริม แถมลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ระบุชาวบ้านช่วยเหลือกันและกันได้ เตรียมหาตลาดรองรับกระเป๋าสานช่วยเพิ่มรายได้ยั่งยืนแก่เกษตรกร
นายสุรินทร์ วทัญญู สหกรณ์จังหวัดราชบุรี กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาบิน อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ร่วมกับสำนักงานประมงจังหวัดราชบุรี เพื่อติดตามการทำงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกร ว่า พื้นที่ป่าเขาบิน มีทั้งหมดกว่า 100 ไร่ ซึ่งจังหวัดราชบุรีได้รับพื้นที่มาตั้งแต่ปี 60 มีคณะกรรมการที่ดูแล 3 คณะ คือ คณะกรรมการจัดสรรที่ดิน คณะกรรมการจัดสรรเกษตรกรลงไปในพื้นที่ และ คณะกรรมการจัดส่งเสริมอาชีพ ซึ่งสำนักงานสหกรณ์จังหวัดราชบุรีเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินได้มีอาชีพและมีรายได้ที่มั่นคง จึงได้นำอาชีพเข้าไปส่งเสริม ฝึกอบรมให้เกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งจากเดิมชาวบ้านที่นี่ทำงานหาเช้ากินค่ำ มีอาชีพรับจ้างทั่วไป จึงอยากส่งเสริมต่อยอดอาชีพและลดค่าใช้จ่ายให้เขาได้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
สำนักงานสหกรณ์จังหวัดราชบุรีจึงได้สำรวจเกษตรกรในพื้นที่ว่ามีความต้องการให้ส่งเสริมด้านใด อยากทำอาชีพอะไร โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ จะได้บูรณาการร่วมกันสนับสนุนเรื่องอาชีพกับเกษตรกรที่อาศัยอยู่ใน ป่าเขาบินทั้งหมด 38 ราย เกษตรกรในพื้นที่ที่มีความประสงค์ต้องการให้หน่วยงานส่งเสริมเกี่ยวกับการเลี้ยงไก่และเลี้ยงปลาในพื้นที่น้ำน้อยจำนวน 23 ราย ซึ่งทางสำนักงานกรมปศุสัตว์ก็จะสนับสนุนงบประมาณลงไปเพื่อช่วยเหลือ และสำงานประมงจังหวัดเข้าไปสนับสนุนโดยหาพันธุ์ปลาดุกไปให้เลี้ยงในบ่อขนาดเล็ก โดยแบ่งเป็นจุดสาธิ
ตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 1 แห่ง ในพื้นที่บ้านของนายกมล กระต่ายทอง ซึ่งประมงจังหวัดราชบุรีได้ให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิต
อย่างไรก็ตามจากการลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ปลาดุกที่ส่งเสริมให้เลี้ยงตอนนี้เริ่มโต เกษตรกรสามารถนำไปขาย ได้ราคา 60-70 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งสามารถสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรและยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังได้อบรมการสานตะกร้าจากเถาวัลย์ ซึ่งเกษตรกรที่นี่มีฝีมือและสามารถสานได้หลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการทำกระเช้าปีใหม่ ซึ่งจะได้ส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาฝีมือและรูปแบบการสานให้ดีขึ้น เพื่อจะได้สามารถนำไปจำหน่ายตามตลาดได้ และจะมีการลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อสรุปรายงานให้คณะกรรมการจังหวัดได้ทราบและเตรียมพัฒนาต่อยอดในปีงบประมาณต่อไป
"หลังจากที่เราได้สนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวใน 1 ปีที่ผ่านมา ถือว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จพอสมควร เนื่องจากอาชีพดังกล่าวสามารถลดค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกรและทำให้มีความรู้ในเรื่องของอาชีพ ซึ่งชาวบ้านบางรายได้ทำเป็นศูนย์เลี้ยงปลาดุกสำหรับการพัฒนาอบรม และช่วยเหลือให้ความรู้แก่สมาชิกรายอื่น ๆ ได้ด้วย" นายสุรินทร์ กล่าว