กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรอย่างยั่งยืน ระหว่างเกษตรกรลูกหนี้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดย ธ.ก.ส. จะปรับโครงสร้างหนี้ให้กับเกษตรกรสมาชิกกองทุนพื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรอย่างยั่งยืน (กฟก.) จำนวน 36,605 ราย มูลหนี้ 6,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 และเป็นหนี้รายละไม่เกิน 2.5 ล้านบาท ด้วยการพักเงินต้นครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) และดอกเบี้ยทั้งหมดไว้ก่อน สำหรับเงินต้นอีกครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) ให้เกษตรกรทำสัญญาผ่อนชำระตามกรอบเวลาที่ตกลงกัน แต่ไม่เกิน 15 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-3 หรือดอกเบี้ยที่ถูกที่สุด เมื่อเกษตรกรผ่อนชำระหนี้ตามสัญญาใหม่เรียบร้อยแล้ว ดอกเบี้ยที่พักไว้ ธ.ก.ส. จะพิจารณายกให้เกษตรกร ส่วนเงินต้นที่เหลืออีกร้อยละ 50 ให้นำมาปรับโครงสร้างใหม่ภายใต้ดุลพินิจของเจ้าหนี้ที่จะพิจารณาศักยภาพของลูกหนี้แต่ละราย โดยใช้หลักการที่เป็นธรรมและไม่มีผลกระทบต่อภาระของเกษตรกร
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ ฯลฯ จัดทำแผนพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกรภายใต้งบประมาณ 20 ล้านบาท ซึ่งจะใช้แนวทางการส่งเสริมอาชีพที่ครอบคลุมไปจนถึงแผนการรับซื้อ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้สามารถนำมาชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ได้ภายในกำหนดเวลาและมีรายได้ในการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน คาดว่าแผนพัฒนาอาชีพดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน
"สำหรับเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ธนาคารอื่น ๆ นอกเหนือจากหลักเกณฑ์การแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิก กฟก. ที่เป็นลูกหนี้ ธ.ก.ส. ตามที่เสนอ ครม. ไปแล้วนั้น นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ รับมาพิจารณา โดยจะหารือร่วมกับเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ และธนาคารเจ้าหนี้ เพื่อหาทางช่วยเหลือในแนวทางเดียวกับลูกหนี้ ธ.ก.ส. ต่อไป โดยให้รวบรวมหลักการเหตุผลเสนอ ครม. เพื่อพิจารณา และกำชับว่าต้องไม่ให้เสียวินัยทางการเงินการคลังของประเทศด้วย" นายกฤษฎากล่าว