กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--มหาวิทยาลัยศิลปากร
ชวนนักท่องเที่ยวมาชม ชิม ชอป แชะ และ แชร์ ชุมชนถนนผลไม้ สนุกสนานกับกิจกรรมเดินศึกษาธรรมขึ้นไปชมน้ำตก อิ่มอร่อยกับเมนูอาหารพื้นบ้าน และเรียนรู้วัฒนธรรมการกินห่อ
เมื่อเร็วๆ นี้ นายวาทกานต์ ช่อแก้ว พัฒนาการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานในพิธีเปิดตัวโครงการชุมชน OTOP นวัตวิถี บ้านหินลาด ดึงเสน่ห์ชุมชนสร้างจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยว สนองนโยบายของรัฐ สร้างความมั่นคงเศรษฐกิจฐานรากให้แก่ชุมชนโดยมี นายพูลศักดิ์ โสภณปทุมรักษ์ ปลัดอาวุโส อ.เกาะสมุย นายรามเนตร ใจกว้าง นายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย นายณะรบ ทวยเจริญ ประธานสภาเทศบาลเทศบาลนครเกาะสมุย นางอนัญญา หลังสตา พัฒนาการอ.เกาะสมุย บริษัท พริสแลนด์แอนด์พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด ร่วมกับทีม ADSU มหาวิทยาลัยศิลปากร ชาวชุมชนบ้านหินลาด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักท่องเที่ยว และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง ณ บ้านหินลาด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี
พัฒนาการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ชุมชนบ้านหินลาด หมู่ที่ 2 ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นชุมชนที่มีเสน่ห์ ตลอด 2 ข้างทางที่มีความยาวกว่า 1 กิโลเมตร ของถนนจากวงเวียนทางเข้าชุมชน ไปยังน้ำตกบ้านหินลาด เป็นสวนผลไม้ของชาวบ้านที่มีการนำผลไม้มาวางขายหน้าบ้าน เช่น ทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง ลางสาดหวานของขึ้นชื่อเกาะสมุย เงาะ มังคุด เป็นต้น เป็นจุดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวสามารถแวะชิมผลไม้ที่วางขาย และเข้าไปเดินในสวนผลไม้ หรือเก็บกินจากต้นได้ นับเป็นอีกจุดขายที่สร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ มีการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่างรำมโนราห์ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้สานต่อมรดกวัฒนธรรมของบรรพชน
ทั้งนี้ จากการสอบถาม พบว่านักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างประเทศจะประทับใจและชอบสินค้า OTOP ผลิตภัณฑ์สินค้าเกรดพรีเมียม ที่ชาวบ้านสร้างแบรนด์ขึ้นมา อาทิ น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์สกัดเย็น สมุนไพร และสปาฮันนี่โทสต์ ไข่เค็มออร์แกนิก เมี่ยงคำ ลางสาด ไม้มะพร้าวแปรรูปขนมไข่ปลา น้ำพริกไทยดำ กระเป๋าเชือกร่ม กล้วยฉาบสมุย ข้าวยำและยาหนม เป็นต้น
"การเปิดตัวชุมชน OTOP นวัตวิถี บ้านหินลาด เป็นการเปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยว ตามโครงการชุมชน OTOP นวัตวิถีของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ในการสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจฐานราก และเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคม เกิดชุมชนเข้มแข็ง ยั่งยืน โดยการนำนวัตกรรมมาผสมผสานกับวิถีชีวิต ในการผลิตสินค้าท้องถิ่นหรือผลิตภัณฑ์ OTOP ภายใต้แนวคิด ร่วมสุข ร่วมวิถี ร่วมสมัย (Happiness Oriented) ผนวกกับการท่องเที่ยวของชุมชน" พัฒนาการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าว