กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำ ณ บริเวณทุ่งมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายในการบริหารจัดการน้ำแบบชุมชนมีส่วนร่วม และการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ โดยพื้นที่บริเวณทุ่งมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นทุ่งที่ต่ำสุดของภูมิภาคนี้ เมื่อฝนตกน้ำจะท่วมเป็นทะเล แต่ชาวบ้านมีความสามารถในการปรับตัวทำการเกษตรบนพื้นที่ 10,000 ไร่ ซึ่งข้าวที่ปลูกในพื้นที่นี้ มีความสูงถึง 6 เมตร และมีผลผลิตเพียงพอต่อการบริโภค สำหรับการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน ปัจจุบันพยายามจะจัดระบบการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ แต่ด้วยข้อจำกัดที่ต้องใช้งบประมาณมากกว่าพื้นที่อื่น จึงดำเนินการได้ล่าช้า
"การจะเข้าไปพัฒนาในพื้นที่ใดๆ ก็ตาม จะต้องสอดคล้องกับสภาพสังคมและวัฒนธรรมของพื้นที่นั้น ซึ่งเมื่อชาวบ้านปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ จะทำให้ลงทุนน้อยกว่า ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะบูรณาการการทำงานร่วมกันภายใต้ความต้องการของชาวบ้านเป็นหลัก ซึ่งจะต้องมีการสำรวจความต้องการ มีการรับฟังความคิดเห็น ทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ ตลอดจนวางแผนการดำเนินงานร่วมกัน" นายวิวัฒน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ วางแนวทางในการพัฒนาทุ่งมหาราช ไว้ 2 ระยะ ได้แก่ แผนงานระยะเร่งด่วน ดำเนินงานโดยสำนักงานชลประทานที่ 10 ขณะนี้อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ทั้งลักษณะสภาพภูมิประเทศ การบริหารจัดการน้ำ ระบบส่งน้ำ ระบบระบายน้ำ รวมทั้งสถิติการเพาะปลูกในพื้นที่ในโครงการที่ผ่านมา เพื่อใช้ในการวางแผนการพัฒนาในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นที่ลุ่มต่ำมากๆ ซึ่งมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างเร่งด่วน ส่วนแผนในระยะยาว จะดำเนินการศึกษาโดยสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน เพื่อพิจารณาศึกษาพัฒนาพื้นที่ทุ่งมหาราชทั้งหมดอย่างเป็นระบบ และมีความสอดคล้องกับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาในระยะต่อไป
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้ตรวจเยี่ยมแปลงสาธิตของกรมพัฒนาที่ดิน และพบปะเกษตรกร ณ ตำบลบางงา อำเภอมหาราชด้วย