กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--กทปส.
กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. เดินหน้าติดตามผลการดำเนินงานจากโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หรือ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) หวังให้แผนการดำเนินงานติดตั้งเป็นไปตามเป้าหมายระยะเวลาที่รัฐบาลวางไว้ คือ ครอบคลุม 75,000 หมู่บ้าน และหนึ่งในพื้นที่ที่ สำนักงาน กสทช. ร่วมด้วย USO และ กทปส. รับผิดชอบกับพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) จำนวน 3,920 หมู่บ้าน ตั้งเป้าพร้อมใช้งานในปลายปี 2561 และเตรียมตรวจความคืบหน้ากว่าร้อยละ 67 ถึงร้อยละ 97 ในภาพรวมจากรายงานการดำเนินงานที่ผ่านมา
นายนิพนธ์ จงวิชิต รักษาการผู้จัดการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดำเนินงานการพัฒนาประเทศด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมการให้บริการด้านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสู่การพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ชายขอบให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม ดังนั้น โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อวางเป้าให้สัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมทุกหมู่บ้านของประเทศไทย และได้เริ่มต้นลงนามการพัฒนาในส่วนของพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) คือ พื้นที่ขอบนอกของจังหวัด พื้นที่ทุรกันดาร จำแนกกลุ่มพื้นที่ชายขอบเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มหมู่บ้านพื้นที่ชายขอบภาคเหนือ 1 กลุ่มหมู่บ้านพื้นที่ชายขอบภาคเหนือ 2 กลุ่มหมู่บ้านพื้นที่ชายขอบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มหมู่บ้านพื้นที่ชายขอบภาคกลาง-ภาคใต้ และกลุ่มหมู่บ้านพื้นที่ชายขอบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (รวม 5 อำเภอของจังหวัดสงขลา) จำนวน 3,920 หมู่บ้าน
ซึ่งในวันที่ 28 กันยายน 2560 ได้เดินหน้าพัฒนาในระยะที่ 1 ไปแล้ว ภายใต้กรอบงบประมาณ 12,900 ล้านบาท โดย สำนักงาน กสทช. USO และ กทปส. ซึ่งปัจจุบัน กทปส. ได้เตรียมลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานจากที่ได้รับรายงานความคืบหน้าที่แล้วเสร็จไปแล้วกว่าร้อยละร้อยละ 67 ถึงร้อยละ 97 ในภาพรวมของแผนงานดำเนินโครงการ และตั้งเป้าให้พร้อมใช้งานภายในปลายปี 2561
นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า การติดตามผลการดำเนินงานความคืบหน้า ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของ กทปส. ซึ่งเราให้ความสำคัญในการดำเนินงานตามเป้าหมายในระยะเวลา โดยเฉพาะให้ความสำคัญในพื้นที่ชายขอบที่ต้องการการพัฒนาอย่างเร่งด่วน เพื่อหวังให้เกิดความเท่าเทียมในประเทศ สำนักงาน กสทช. และ กทปส. ตระหนักเสมอถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เกิดความเท่าเทียม โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านการสื่อสารสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่ปัจจุบันไม่ได้เป็นเพียงเทคโนโลยีการสื่อสารเท่านั้น หากแต่เป็นอนาคตของประเทศอนาคตของประชาชนทุกคน ซึ่งจะเห็นได้ว่าหากเกิดเชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสู่พื้นที่ชายขอบ (Zone C+) จะเกิดการพัฒนาหลายภาคส่วน อาทิ การศึกษาที่จะสามารถเชื่อมโลกให้เด็ก เยาวชนเกิดการใช้อินเทอร์เน็ตในการศึกษาหาความรู้หรือสามารถใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพได้ ในด้านการแพทย์ก็สามารถทำให้หน่วยแพทย์ พยาบาลเชื่อมต่อการรักษาได้อย่างทันท่วงที การพัฒนาด้านการส่งเสริมสินค้า ภาคธุรกิจชุมชน เป็นจุดเริ่มต้นในการให้ชุมชนและประชาชนในพื้นที่สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ผ่านการเชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรืออาจเกิดกลุ่ม SMEs ขนาดย่อมในชุมชน การเชื่อมโยงระหว่างชุมชนใกล้เคียง หากมีการวางระบบสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ การเชื่อมโยงระหว่างชุมชนใกล้เคียงถือเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งด้านการสื่อสารระหว่างผู้นำชุมชน การค้าขายในพื้นที่ใกล้เคียง การแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย เป็นต้น ซึ่งหากพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) วางระบบครบถ้วน จำนวน 3,920 หมู่บ้านสำเร็จเชื่อมั่นว่าจะเกิดการพัฒนา และลดความเลื่อมล้ำในด้านคุณภาพชีวิตได้อย่างแน่นอน
"ในการดำเนินโครงการแยกเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 การติดตั้ง 365 วัน ครบกำหนด 27 กันยายน 2561 ระยะที่ 2 สนับสนุน 5 ปี สิ้นสุด 27 กันยายน 2566 ระยะที่ 3 คือส่งมอบงาน อีก 60 วัน ณ ปัจจุบันการดำเนินงานอยู่ในระยะที่ 1 การส่งมอบงานติดตั้งซึ่งภาคเอกชนที่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินโครงการรายงานถึงความคืบหน้ากว่าร้อยละ 67 ถึงร้อยละ 97 ตามรายงานความคืบหน้าที่ผ่านมา โดยนับจากวันนี้ ถึง ธันวาคม 2561 ทาง กทปส. ได้จัดเตรียมแผนงานในการลงพื้นที่สำรวจความคืบหน้า เตรียมการส่งมอบอาคาร อุปกรณ์การติดตั้ง พร้อมตรวจสอบระบบสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในการเชื่อมต่อให้สมบูรณ์พร้อมใช้งาน มุ่งหวังให้พื้นที่ชายขอบ (Zone C+) จำนวน 3,920 หมู่บ้านได้ใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงภายในปลายปี 2561 ตามระยะเวลาที่กำหนด พร้อมมุ่งหวังว่าการเริ่มต้นในครั้งนี้จะเป็นการต่อยอดพัฒนาโครงข่ายในอนาคต เพื่อให้ทุกพื้นที่ในประเทศไทยมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใช้ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ลดไม่เท่าเทียมในด้านต่าง ๆ สร้างโอกาสให้กับพื้นที่ถิ่นทุรกันดาร เติมเต็มศักยภาพให้กับประชาชนผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศและเป็นการสร้างอนาคตใหม่ให้กับประเทศไทย" นายนิพนธ์ กล่าวสรุป