กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินงาน โครงการสานพลังประชารัฐ เพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ผ่านวิดิโอ คอนเฟอเรนซ์ ครั้งที่ 1/2561 ณ ห้องประชุม กรมป้องกันและบรรเทาสาณารณภัย ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ในช่วงเดือนพ.ย. 61 - ก.ย. 62 โดยสนับสนุนสินเชื่อเพื่อปัจจัยการผลิตให้เกษตรกร ไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ดอกเบี้ย 0.01% เป็นระยะเวลา 6 เดือน และสินเชื่อเพื่อสนับสนุนสถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมผลผลิตดอกเบี้ย 1% ระยะเวลา 6 เดือน โดยประสานภาคเอกชนเข้ามารับซื้อผลผลิตในราคาที่เป็นธรรมทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่าย รวมทั้งการประกันความเสี่ยงให้กับเกษตรกรเมื่อประสบภัยพิบัติ และรัฐสนับสนุนเบี้ยประกันภัย 65บาท/ไร่ ให้กับเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการ หากเกษตรกรได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติจะได้รับการชดเชยไร่ละ 1,500 บาท นอกจากนี้ได้แต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดและระดับอำเภอเพื่อขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว ซึ่งได้ประสานขอความร่วมมือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ รวมทั้งเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาการอำเภอเข้าร่วมเป็นคณะทำงานด้วยแล้ว
"การประชุมในครั้งนี้ เพื่อชี้แจงรายละเอียดขั้นตอนการปฎิบัติงานตามโครงการดังกล่าว ให้คณะทำงานระดับจังหวัดและอำเภอได้ทราบและถือปฎิบัติร่วมกันผ่านการประชุมวิดิโอคอนเฟอร์เรนซ์ไปยังห้องประชุมศาลากลางในจังหวัดเป้าหมาย 33 จังหวัด โดยได้มีการประสานขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอเร่งดำเนินการโครงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาปี 2561 และทำความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้ขยายพื้นที่เข้าร่วมโครงการให้มากที่สุด พร้อมยืนยันมีผู้รับซื้อแน่นอน รวมทั้งมีการประกันราคา และสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ต่ำที่สุดหมื่นละ 1 บาท อีกทั้งประกันภัยกรณีเกิดภัยพิบัติได้รีบเงินชดเชยเพิ่มเติมอีกด้วย ประกอบกับรัฐบาลให้ความสำคัญกับโครงการดังกล่าวซึ่งเป็นโครงการแรกของการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการภาคการเกษตรของไทย ด้วยการวางแผนการผลิตทางการเกษตรของประเทศ (Agriculture Production Plan) โดยให้กระทรวงมหาดไทย ซี่งเป็นฝ่ายปกครอง ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ เร่งทำความเข้าใจและเชิญชวนชาวนาใน 33 จังหวัด รวมพื้นที่ 2 ล้านไร่ ให้ปรับเปลี่ยนจากการทำนาปรังมาปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์" นายกฤษฎา กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับพื้นที่ 33 จังหวัด ได้ตรวจสอบแล้วว่า มีสภาพดินเหมาะสมต่อการปลูกข้าวโพดให้ปรับเปลี่ยนจากการทำนาปรังมาปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ ซึ่งพื้นที่ปลูกมีทั้งในและนอกเขตชลประทาน โดยมอบหมายกรมชลประทานจัดสรรน้ำส่งให้เพียงพอตลอดระยะเวลา 4 เดือนของอายุการปลูก อีกทั้งให้สหกรณ์จังหวัดรวมกลุ่มสหกรณ์การเกษตรที่อยู่ในพื้นที่เข้าร่วมโครงการฯ และให้สหกรณ์การเกษตรหรือวิสาหกิจชุมชนชนทำหน้าที่รวบรวมเกษตรกรรายย่อยที่เป็นสมาชิกมาเพาะปลูกในระบบเกษตรแปลงใหญ่ ไม่ให้ปลูกแบบกระจาย เพื่อให้การเข้าไปส่งเสริม การช่วยดูแล ตลอดจนการรวบรวมผลผลิตทำได้สะดวก เนื่องจากที่ผ่านมาเคยมีโครงการส่งเสริมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในบางพื้นที่ แต่ไม่ได้จัดระบบการปลูกแบบรวมกลุ่มและจัดจุดรวบรวมผลผลิต ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
ทั้งนี้ คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการฯ ระดับอำเภอ มีนายอำเภอเป็นประธานคณะทำงาน ส่วนระดับจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัดหรือ (อ.พ.ก.) เป็นประธานคณะทำงาน โดยมีเกษตรอำเภอทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะทำงาน ซึ่งจะนำเรื่องการเชิญชวนปลูกพืชอื่นๆ แทนการทำนาปรังเข้าประชุมชี้แจงที่ประชุมกำนันผู้ใหญ่บ้านภายในเดือนตุลาคมนี้ จากนั้นให้เกษตรจังหวัดจัดเจ้าหน้าที่และตัวแทนภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการส่งคณะวิทยากรจัดการอบรมให้ความรู้ตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมแปลง วิธีปลูกข้าวโพด แนวทางลดต้นทุน และช่วยดูแลรักษาแปลงให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ