กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--การประปาส่วนภูมิภาค
คณะกรรมการรับรองคุณภาพน้ำประปามาตรฐานสากล โดย การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ประกาศให้สถานีผลิตน้ำของ กปภ. 77 สาขา ผ่านการรับรองคุณภาพตามโครงการส่งเสริมความเชื่อมั่นคุณภาพน้ำประปา ภายใต้แนวคิด Water is Life ระยะที่ 1 (เดือนมกราคม – กันยายน 2561) ยืนยันน้ำประปาที่ผลิตโดย กปภ. มีความสะอาดปลอดภัยสามารถอุปโภคบริโภคได้อย่างมั่นใจ
นายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้ว่าการ กปภ. กล่าวว่า กปภ. ยึดมั่นการควบคุมคุณภาพน้ำประปาเป็นเรื่องสำคัญมาตลอดระยะเวลา 39 ปี ที่ได้รับความไว้วางใจให้รับผิดชอบวางรากฐานระบบประปาแก่ประชาชน ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นโครงการตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการน้ำประปาดื่มได้ โครงการจัดการน้ำสะอาด (Water Safety Plan:WSP) ตลอดจนโครงการก่อสร้างอาคารปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ (Lab Cluster) รวม 31 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเสริมประสิทธิภาพการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำโดยผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ ในปี 2561 กปภ. ร่วมกับ กรมอนามัย ริเริ่มโครงการส่งเสริมความเชื่อมั่นคุณภาพน้ำประปา ตามแนวคิด "Water is Life" เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ความสะอาดปลอดภัย ของน้ำประปาที่ผลิตโดยสถานีผลิตน้ำของ กปภ. ซึ่งตรวจรับรองโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยมีผลการดำเนินงานระยะที่ 1 (เดือนมกราคม – กันยายน 2561) รับรองว่ากระบวนการผลิตน้ำประปาและกระบวนการตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาของ กปภ. 77 สาขาทั่วประเทศ มีความสะอาด ปลอดภัย สามารถอุปโภคบริโภคได้อย่างมั่นใจ ประกอบด้วย
1. กปภ. เขต 1 คือ กปภ.สาขาพัทยา บ้านบึง ศรีราชา แหลมฉบัง (จ.ชลบุรี) บางคล้า พนมสารคาม (จ.ฉะเชิงเทรา) บ้านฉาง ปากน้ำประแสร์ (จ.ระยอง) จันทบุรี ขลุง (จ.จันทบุรี) ตราด คลองใหญ่ (จ.ตราด) วัฒนานคร อรัญประเทศ (จ.สระแก้ว) ปราจีนบุรี กบินทร์บุรี (จ.ปราจีนบุรี)
2. กปภ.เขต 2 คือ กปภ.สาขาลพบุรี (จ.ลพบุรี) ปทุมธานี ธัญบุรี (จ.ปทุมธานี) ปากช่อง สีคิ้ว (จ.นครราชสีมา)
3. กปภ.เขต 3 คือ กปภ.สาขาด่านช้าง (จ.สุพรรณบุรี) กาญจนบุรี พนมทวน (จ.กาญจนบุรี) เพชรบุรี (จ.เพชรบุรี) ปราณบุรี (จ.ประจวบคีรีขันธ์)
4. กปภ.เขต 4 คือ กปภ.สาขาสุราษฎร์ธานี เกาะสมุย บ้านนาสาร (จ.สุราษฎร์ธานี) ชุมพร (จ.ชุมพร) ภูเก็ต (จ.ภูเก็ต) คลองท่อม (จ.กระบี่) ทุ่งสง (จ.นครศรีธรรมราช)
5. กปภ.เขต 5 คือ กปภ.สาขาหาดใหญ่ สะเดา นาทวี (จ.สงขลา) พัทลุง เขาชัยสน (จ.พัทลุง) ย่านตาขาว (จ.ตรัง) นราธิวาส สุไหงโกลก (จ.นราธิวาส)
6. กปภ.เขต 6 คือ กปภ.สาขาบ้านไผ่ (จ.ขอนแก่น) กาฬสินธุ์ (จ.กาฬสินธุ์) ชัยภูมิ แก้งคร้อ (จ.ชัยภูมิ) มหาสารคาม (จ.มหาสารคาม) ร้อยเอ็ด (จ.ร้อยเอ็ด)
7. กปภ.เขต 7 คือ กปภ.สาขาเลย เชียงคาน (จ.เลย) ศรีเชียงใหม่ (จ.หนองคาย) นครพนม ธาตุพนม (จ.นครพนม)
8. กปภ.เขต 8 คือ กปภ.สาขาอุบลราชธานี เดชอุดม (จ.อุบลราชธานี) ยโสธร (จ.ยโสธร) บุรีรัมย์ สตึก (จ.บุรีรัมย์) สุรินทร์ รัตนบุรี (จ.สุรินทร์)
9. กปภ.เขต 9 คือ กปภ.สาขาเชียงใหม่ ฮอด (จ.เชียงใหม่) แม่ฮ่องสอน แม่สะเรียง (จ.แม่ฮ่องสอน) ลำพูน (จ.ลำพูน) ลำปาง เกาะคา (จ.ลำปาง) แพร่ (จ.แพร่) พะเยา (จ.พะเยา) เชียงราย เวียงเชียงของ (จ.เชียงราย)
10. กปภ.เขต 10 คือ กปภ.สาขานครสวรรค์ ลาดยาว (จ.นครสวรรค์) อุทัยธานี (จ.อุทัยธานี) กำแพงเพชร (จ.กำแพงเพชร) ทุ่งเสลี่ยม (จ.สุโขทัย) พิจิตร (จ.พิจิตร) หนองไผ่ (จ.เพชรบูรณ์)
ทั้งนี้ กปภ. และ กรมอนามัย จะเร่งดำเนินการตรวจสอบและผลักดันให้ครบทั้ง 234 สาขาโดยเร็วพร้อมควบคุมคุณภาพโดยการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอทุก 12 เดือน
ผู้ว่าการ กปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ก้าวต่อไป กปภ. และ กรมอนามัย จะขยายขอบเขตการดำเนินโครงการ โดยการตรวจรับรองคุณภาพน้ำประปาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตและควบคุมคุณภาพน้ำประปา เพื่อพัฒนามาตรฐานระบบประปาของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับตามหลักสากลอย่างเท่าเทียมกันและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนต่อไป