กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
กรมบัญชีกลางสรุปผลการดำเนินงานปีงบประมาณ 2561 เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมบัญชีกลาง ครบรอบ 128 ปี ยังคงมุ่งมั่นกำกับ ดูแล การใช้จ่ายเงินแผ่นดินให้เป็นไปอย่างถูกต้อง มีวินัย คุ้มค่า โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และเกิดประโยชน์สูงสุด
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ในวันนี้ (5 ต.ค.) กรมบัญชีกลางได้จัดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมบัญชีกลางครบรอบ 128 ปี ซึ่งตรงกับวันที่ 7 ต.ค. ของทุกปี โดยกรมบัญชีกลางยังคงยึดมั่นในการทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส เพื่อกำกับดูแลและบริหารการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมขับเคลื่อนการปฏิบัติงานของส่วนราชการให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน กรมบัญชีกลางได้ปฏิบัติภารกิจในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ และได้ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงการคลังและรัฐบาลในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ดังนี้
1. การเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ผลเบิกจ่ายในช่วงสิ้นปีงบประมาณ 2561 มีการเบิกจ่ายงบประมาณภาพรวมได้จำนวน 2,667,073 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2,900,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 92.0 แบ่งเป็น เบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนได้จำนวน 373,034 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 659,781 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 56.5 เบิกจ่ายรายจ่ายประจำได้จำนวน 2,294,039 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 2,240,219 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 102.40 จากผลการเบิกจ่ายที่ต่ำกว่าเป้าหมายเนื่องจากหน่วยงานของรัฐยังมีปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจ ไม่คุ้นเคยกับการจัดซื้อจัดจ้างตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่ จึงเกิดความกังวลในการปฏิบัติงาน ซึ่งกรมบัญชีกลางจะเร่งทำความเข้าใจกับหน่วยงานต่าง ๆ ให้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลการเบิกจ่ายเงินจะมีอัตราการเบิกจ่ายเงินต่ำกว่าปีที่ผ่านมา แต่พบว่าจำนวนเงินในการเบิกจ่ายงบประมาณภาพรวม งบประมาณรายจ่ายลงทุน และการก่อหนี้ผูกพัน เบิกได้สูงกว่าปีงบประมาณที่ผ่านมา
สำหรับการเบิกจ่ายของกรมบัญชีกลาง มีผลการเบิกจ่ายสูงกว่าเป้าหมายเป็นปีแรก โดยเบิกจ่ายภาพรวมได้จำนวน 1,439.52 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 1,484.33 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 97.65 สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 1.65 (เป้าหมายร้อยละ 96) แบ่งเป็น เบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนได้จำนวน 277.66 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 296.13 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 93.76 สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 5.76 (เป้าหมายร้อยละ 96) และเบิกจ่ายรายจ่ายประจำได้จำนวน 1,171.85 ล้านบาท ของวงเงินงบประมาณ 1,188.20 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 98.62
2. การดำเนินงานภายใต้โครงการ National e-Payment ภาครัฐ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพของการจัดสวัสดิการสังคมและการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐ ซึ่งประกอบด้วย
(1) โครงการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม
- พัฒนาระบบฐานข้อมูลสวัสดิการ เพื่อให้รัฐบาลมีฐานข้อมูลผู้มีสิทธิรับสวัสดิการสังคมและเงินอื่นในลักษณะเดียวกันแก่ผู้มีรายได้น้อยเชิงลึกในทุกมิติ และสามารถนำข้อมูลไปใช้กำหนดนโยบายการดูแลให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคมได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และมีประสิทธิภาพยั่งยืน ปีงบประมาณที่ผ่านมากรมบัญชีกลางได้ดำเนินการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด จำนวน 351,788 ราย เป็นเงิน 3,500.18 ล้านบาท เงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 5,764 ราย เป็นเงิน 136.26 ล้านบาท เบี้ยความพิการ กทม. จำนวน 77,767 ราย เป็นเงิน 313.91 ล้านบาท เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ กทม. จำนวน 714,487 ราย เป็นเงิน 1,411.06 ล้านบาท เบี้ยความพิการ เมืองพัทยา จำนวน 1,254 ราย เป็นเงิน 3.02 ล้านบาท เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เมืองพัทยา จำนวน 8,682 ราย เป็นเงิน 16.82 ล้านบาท และจ่ายตรงเงินเดือนทหารกองประจำการ จำนวน 162,084 ราย เป็นเงิน 3,461.78 ล้านบาท เงินค่าป่วยการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 507,108 ราย เป็นเงิน 799,33 ล้านบาท
- การจัดทำโครงการประชารัฐสวัสดิการ การให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยผู้มีสิทธิรับบัตรแล้วจำนวน 11.1 ล้านราย จากจำนวนผู้มีสิทธิทั้งสิ้น 11.47 ล้านราย มีการวางเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) ทั่วประเทศรวมจำนวน 35,359 เครื่อง โดยมียอดการใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 60 – 27 ก.ย. 61 รวมทั้งสิ้น 42,440 ล้านบาท แบ่งเป็น ร้านธงฟ้าประชารัฐ 41,318 ล้านบาท ร้านก๊าซหุงต้ม 59.5 ล้านบาท รถ บขส. 111.7 ล้านบาท รถไฟ 217.6 ล้านบาท รถไฟฟ้า (เริ่ม 20 ก.ค. 61) 8.7 ล้านบาท และเงินมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิต (โอนเข้ากระเป๋าเงิน e-Money) 724.6 ล้านบาท อีกทั้งยังมีการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพจากกองทุนผู้สูงอายุสำหรับภาษีสรรพสามิตและสุรายาสูบ โดยโอนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ให้กับผู้สูงอายุที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามสิทธิที่ได้รับ (50/100 บาท) เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกและกำลังซื้อให้ผู้มีสิทธิ สามารถนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้จ่ายได้ตามความต้องการ และยังได้พัฒนารูปแบบการชำระเงินให้สามารถชำระเงินผ่านทาง Moblie Application ถุงเงิน โดยมีร้านค้าที่ใช้งานผ่าน Application ถุงเงิน แล้วจำนวน 7,837 ร้านค้า เป็นเงิน 140.85 ล้านบาท และในเดือน ต.ค. นี้ จะเริ่มใช้การสแกนใบหน้า Application face scan เพื่อให้ผู้มีสิทธิใช้ชำระเงินแทนรูปแบบเดิม นอกจากนี้ จะเริ่มใช้มาตรการชดเชยเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยใช้ข้อมูลจากจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีรายได้น้อยได้ชำระ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 61 – 30 เม.ย. 62 โดย 7% ของภาษีที่ถูกหักจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ คงไว้เป็นเงินภาษี 1% คืนกลับไปให้ใช้จ่าย 5% และเพื่อการออมอีก 1% และในอนาคตมีแผนที่จะขยายการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐกับมอเตอร์ไซด์รับจ้างด้วย
- สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ.... เพื่อใช้จ่ายในการจัดประชารัฐสวัสดิการ ที่เป็นการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ หรือเพื่อสนับสนุนโครงการที่ให้บริการทางสังคม ที่เป็นการช่วยเหลือประชาชนในภาวะลำบากทุกประเภท ทั้งนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้พิจารณารับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติการจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ.... แล้ว
(2) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการรับ – จ่ายเงินภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมบัญชีกลางได้ให้ส่วนราชการเริ่มใช้งานระบบการรับและจ่ายเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยได้ติดตั้งอุปกรณ์ที่ส่วนราชการครบแล้วทั้ง 7,199 แห่งทั่วประเทศ เพื่อรองรับการรับจ่ายเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ KTB Corporate Online การรับเงินด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเครื่อง EDC และ QR Code ผลการรับ/นำส่งและจ่ายเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม – 25 กรกฎาคม 2561 พบว่า มีรับเงินด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเครื่อง EDC และ QR Code เป็นเงินกว่า 2,872.01 ล้านบาท และมีการนำส่งและจ่ายเงินผ่านระบบ KTB Corporate Online เป็นเงินกว่า 199,330.07 ล้านบาท
3. การปรับปรุงระบบเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาล ได้มีการปรับเปลี่ยนระบบการเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอก โดยใช้บัตรประชาชนแสดงสิทธิเพื่อประกอบการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลทุกครั้งที่เข้ารับการรักษา เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. 61 ที่ผ่านมา เป็นการเพิ่มความสะดวกให้กับผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัว โดยไม่ต้องสแกนนิ้วเพื่อสมัครเบิกจ่ายตรงที่สถานพยาบาลต่าง ๆ และต้องรอผลอนุมัติอีก 15 วัน หากผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัว ได้จัดทำฐานข้อมูลบุคลากรภาครัฐเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงได้ทันที ณ สถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการเบิกจ่ายตรงสวัสดิการรักษาพยาบาล จำนวน 1,327 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งผลการดำเนินงานโครงการดังกล่าว (พ.ค. – 30 ก.ย. 61) มีจำนวนการทำธุรกรรมรวมทั้งสิ้น 13.56 ล้านรายการ เป็นเงินทั้งสิ้น 21,892 ล้านบาท
4. การดำเนินการด้านการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ได้ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งออกกฎหมายลำดับรองและแนวปฏิบัติ จำนวน 63 ฉบับ เพื่อให้หน่วยงานปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง และคล่องตัวมากขึ้น รวมถึงมีการจัดอบรมหลักสูตรมาตรฐานวิชาชีพด้านการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในปีที่ผ่านมา มีหน่วยงานภาครัฐเข้าใช้งานในระบบ e-GP จำนวน 195,768 ราย และมีผู้ค้ากับภาครัฐลงทะเบียนในระบบ e-GP จำนวน 244,776 ราย ในส่วนของมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 (ต.ค. 60 – ก.ค. 61) มูลค่าที่จัดหาได้ 867,051 ล้านบาท จากวงเงินงบประมาณ 938,701 ล้านบาท สามารถประหยัดงบประมาณได้ 71,650 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.63% และในอนาคต กรมบัญชีกลางจะเริ่มให้หน่วยงานของรัฐสามารถจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับงานจ้างออกแบบและควบคุมงานได้ในเดือนตุลาคม 2561 เป็นต้นไป รวมทั้งจะปรับปรุงและพัฒนาต่อยอด เพื่อตอบสนองการใช้งานอย่างต่อเนื่อง เช่น การพัฒนาระบบประกวดราคานานาชาติ (international bidding) การพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับโครงการรวมซื้อรวมจ้าง การพัฒนาระบบราคาอ้างอิง และการพัฒนาระบบสำหรับให้หน่วยตรวจสอบ สามารถเข้าดูประกาศ และเอกสารประกวดราคาได้ เป็นต้น
การดำเนินการด้านความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง หลังจากกรมบัญชีกลางได้เริ่มให้หน่วยงานจัดทำข้อตกลงคุณธรรม มีหน่วยงานเจ้าของโครงการสนใจเข้าร่วมมากขึ้นทุกปี โดยในปีงบประมาณ 2561 มีโครงการที่เข้าร่วม จำนวน 32 โครงการ มีมูลค่าโครงการรวม 905,283.48 ล้านบาท ซึ่งทำให้ภาครัฐสามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 21,367.89 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 53.01 สำหรับการนำโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Construction Sector Transparency Initiative : CoST) มาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในปี 2561 มีการคัดเลือกโครงการก่อสร้างภาครัฐเข้าร่วมโครงการ CoST จำนวน 147 โครงการ มีมูลค่าการก่อสร้างรวม 113,665 ล้านบาท รวมทั้ง ได้ขยายผลการตรวจสอบไปยังราชการส่วนท้องถิ่นอีกด้วย ทั้งนี้ ก็เพื่อให้โครงการก่อสร้างภาครัฐมีคุณภาพมากขึ้น ลดช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐ สร้างความมั่นใจเกี่ยวกับกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส และตรวจสอบได้ให้กับทุกภาคส่วน ในส่วนของการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง กรมบัญชีกลางได้เป็นคณะกรรมการซุปเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อทำหน้าที่ในการกำกับ เร่งรัด ติดตามและตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ โดยผลการดำเนินงานตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560 – ปัจจุบัน มีดังนี้ 1. พิจารณาตรวจสอบโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 จำนวน 7 โครงการ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 2. ตรวจสอบ TOR ของโครงการต่าง ๆ ของรัฐที่ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งมีวงเงินสูงหรือเป็นโครงการของรัฐที่อยู่ในความสนใจของประชาชนย้อนหลัง 3 ปี จำนวน 9 โครงการ และ 3. พิจารณาตรวจสอบโครงการการจัดจ้างผลิตและให้บริการหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 3 (E – PASSPORT PHASE 3)
5. การดำเนินการตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กรมบัญชีกลางได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง มาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐ พ.ศ. 2561 เรื่อง มาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐสำหรับบัญชีการเงินแผ่นดิน และเรื่อง มาตรฐานการบัญชีภาครัฐ ฉบับที่ 9 เรื่อง รายได้จากรายการแลกเปลี่ยน เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ในการจัดทำบัญชีและรายงานการเงินได้อย่างถูกต้อง ในส่วนของการตรวจสอบภายใน อยู่ระหว่างการดำเนินการออกหลักเกณฑ์กระทรวงการคลังว่าด้วยมาตรฐานและหลักเกณฑ์ปฏิบัติการตรวจสอบภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2561 เพื่อเพิ่มคุณค่าและปรับปรุงการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐให้ดีขึ้น และหลักเกณฑ์กระทรวงการคลังว่าด้วยมาตรฐานและหลักเกณฑ์ปฏิบัติการควบคุมภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2561 เพื่อให้หน่วยงานของรัฐมีมาตรฐานเกี่ยวกับการควบคุมภายในที่ชัดเจน เป็นไปในแนวทางเดียวกัน อ้างอิงตามหลักสากล และมีความเหมาะสมกับการบริหารราชการแผ่นดิน
6. การบริหารทุนหมุนเวียน กรมบัญชีกลางได้ออกกฎหมายลำดับรอง ประกอบด้วย พระราชกฤษฎีกาการกำหนดจำนวนเงินสะสมสูงสุด และการนำทุนหรือผลกำไรส่วนเกินของทุนหมุนเวียนส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน พ.ศ. 2561 ประกาศคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน เรื่อง รายชื่อหน่วยงานอื่นของรัฐ และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอจัดตั้งทุนหมุนเวียน เสร็จเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันกรมบัญชีกลางได้กำกับดูแลทุนหมุนเวียน จำนวน 115 ทุน ซึ่งในแต่ละปีจะมีการประเมินผลการปฏิบัติงาน เพื่อพิสูจน์ผลของการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยได้มอบรางวัลให้แก่ทุนหมุนเวียนที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น ประจำปี 2560 จำนวนทั้งสิ้น 16 รางวัล เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการพัฒนาทุนหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพ และมีการบริหารจัดการให้เป็นไปอย่างมีมาตรฐาน รวมทั้งในปีที่ผ่านมา กรมบัญชีกลางได้เรียกให้เงินทุนหมุนเวียนนำทุนหรือผลกำไรส่วนเกินและส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินแล้ว จำนวน 18,418.20 ล้านบาท
จากผลการดำเนินงานทั้งหมดในปีที่ผ่านมา กรมบัญชีกลางได้พัฒนาการปฏิบัติราชการตามแนวทางระบบราชการ 4.0 มาอย่างต่อเนื่อง โดยการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการอย่างแท้จริงในเชิงยุทธศาสตร์ ตั้งแต่ระดับการวางนโยบายไปจนถึงการนำไปปฏิบัติ มีความเชื่อมโยงระบบการทำงานไปสู่ระบบดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ โดยเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง มุ่งแก้ไขปัญหาโดยใช้วิธีการทำงานรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองได้ทันที ทำให้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 กรมบัญชีกลางเป็น 1 ใน 5 หน่วยงานที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐเป็นปีแรก ซึ่งเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศ ที่มอบให้หน่วยงานที่ได้มุ่งมั่นปฏิบัติราชการจนประสบความสำเร็จ มีความเป็นเลิศในหน่วยงานของรัฐ เป็นความภาคภูมิใจสูงสุดของราชการไทย โดยกรมบัญชีกลางได้รับรางวัลรวมทั้งหมด 5 รางวัล ได้แก่ 1.รางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2561 2.รางวัลเลิศรัฐสาขาบริการภาครัฐ ประเภทนวัตกรรมการบริการ ระดับดีเด่น 3.รางวัลเลิศรัฐสาขาบริการภาครัฐ ประเภทพัฒนาการบริการ ระดับดี 4.รางวัลเลิศรัฐสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทรางวัลเปิดใจใกล้ชิดประชาชน ระดับดีเด่น และ 5.รางวัลเลิศรัฐสาขาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ หมวด 1 ด้านการนำองค์กรและความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งยังได้รับรางวัลเพชรวายุภักษ์ในครั้งที่ 7 อีก 7 รางวัล โดยได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับ Diamond จำนวน 6 รางวัล ได้แก่ 1.การพัฒนาระบบการคำนวณราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการด้วยอิเล็กทรอนิกส์ 2.การพัฒนาพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ 2560 3.โครงการระบบการรับชำระเงินกลางของบริการภาครัฐ 4.ระบบการยื่นขอรับบำเหน็จบำนาญด้วยตนเองทางอิเล็กทรอนิกส์ 5.ตะกร้าราคากลางอิเล็กทรอนิกส์ 6.ระบบสวัสดิการสังคมเพื่อประชาชน และได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับ Gold 1 รางวัล ได้แก่ ระบบความรับผิดทางละเมิดและแพ่ง และ Application ยื่นคำขอให้หน่วยงานของรัฐ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน รางวัลเพชรวายุภักษ์เป็นรางวัลที่กระทรวงการคลังส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานและบุคลากรในสังกัดได้พัฒนา ปรับปรุง รูปแบบการให้บริการแก่ประชาชนด้วยนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างผลประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดินอย่างต่อเนื่อง
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวในตอนท้ายว่า กรมบัญชีกลางยังมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับดูแล และบริหารการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีหลักในการทำงาน คือ "สื่อสารสร้างความเข้าใจ ทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข และสนุกกับการทำงานเสมอ" ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยพัฒนาบุคลากรของกรมบัญชีกลางให้สามารถขับเคลื่อนกรมจนบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ และพร้อมให้บริการกับทุกภาคส่วนด้วยจิตให้บริการที่เป็นเลิศ