กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--ซีพีเอฟ
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ มุ่งมั่นสร้างความสุขให้พนักงานในองค์กร คนงานในฟาร์มและโรงงาน พร้อมสร้างรากฐานคุณภาพชีวิตด้านการเงินที่มั่นคง ขยายความร่วมมือกับสถาบันการเงินช่วยปลดหนี้บัตรเครดิตและหนี้นอกระบบ ต่อยอดส่งเสริมทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายครัวเรือน สร้างวินัยการออมยั่งยืน
นางจิตภินันท์ รัตนชัยสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ด้านบริหารงานพนักงานสัมพันธ์ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ดำเนินโครงการ"ปลดหนี้ สร้างสุข ส่งเสริมการออม"มาตั้งแต่ปี 2558 โดยประสานความร่วมมือกับสถาบันการเงินในการเป็นแหล่งเงินกู้อัตราดอกเบี้ยพิเศษให้พนักงาน คนงานของโรงงานและฟาร์มที่มีภาระหนี้บัตรเครดิตและ/หรือหนี้นอกระบบ ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งพบว่าปัญหาภาระหนี้ดังกล่าวกระทบต่อความสุขในการทำงาน ประสิทธิภาพการทำงานลดลง และยังมีผลไปถึงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวพนักงานและคนงานด้วย
ในปีนี้จึงได้ขยายความร่วมมือกับสถาบันการเงินเพิ่มอีก 1 แห่ง คือ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ที่เข้ามาสนับสนุนโครงการปลดหนี้ฯ ทำให้สามารถรองรับพนักงานของบริษัทในกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์อาหารและบริษัทในกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์รวมอีก 47 บริษัท จากปัจจุบันที่ซีพีเอฟประสานความร่วมมืออยู่กับสถาบันการเงิน 3 แห่ง คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารธนชาต
"การขยายความร่วมมือกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ช่วยให้พนักงานและคนงานเข้าถึงแหล่งเงินได้ในจำนวนมากกว่าเดิม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ประจำ 1 หมื่นบาทต่อเดือน นอกจากนี้ เรายังพิจารณาด้วยว่าต้องช่วยแก้ปัญหาและปลดภาระหนี้ให้แก่ผู้กู้ได้จริง" นางจิตภินันท์ กล่าว
ด้าน นายพุทธชาติ ไผ่พุทธ รองกรรมการผู้จัดการ สายธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ปี 2561 นี้ บริษัทฯเน้นทำกิจกรรมหลักในการให้ความรู้ทางการเงินแก่พนักงานและคนงานเพื่อสนับสนุนการวางแผนการเงินของตัวเอง คือ การทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายของครัวเรือน และส่งเสริมการออมเงินเพื่อสร้างวินัยทางการเงิน โดยในปีนี้มีเป้าหมายให้คนงานในฟาร์มสายธุรกิจสุกร 50 % หรือประมาณ 3,500 คนต้องทำบัญชีครัวเรือนได้ จากการติดตามพบว่าปัจจุบันมีคนงาน 2,454 คนที่มีการทำบัญชีครัวเรือนแล้ว โดยมีหัวหน้าหน่วยงานคอยช่วยเหลือและให้คำแนะนำ นอกจากนี้ ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา มีจำนวนผู้ที่เริ่มออมเงินแล้ว 1,837 คน เฉลี่ยวงเงินฝากต่อคนต่อเดือนอยู่ที่ 1,260 บาท
สายธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ เป็นสายธุรกิจแรกที่ริเริ่ม โครงการ"ปลดหนี้ สร้างสุข ส่งเสริมการออม"มาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ( ข้อมูล ณ 30 ก.ย. 61) มีจำนวนฟาร์มและโครงการส่งเสริม(ในสายธุรกิจสุกร)ที่เข้าร่วมโครงการฯจำนวน 82 ฟาร์ม/โครงการ มีผู้เข้าร่วมโครงการและผ่านการกู้แล้วรวม 373 ราย จำนวนเงินกู้รวม 42 ล้านบาท เฉลี่ยการกู้ต่อรายประมาณ 112,000 บาท ในจำนวนดังกล่าวชำระหนี้หมดไปแล้ว 87 ราย และในสิ้นปี 2561 นี้ จะมีผู้กู้ที่ชำระหนี้หมดอีก 22 ราย รวมเป็น 109 ราย
หัวหน้าคนงานเล้าคลอดฟาร์มสุกรพนมสารคาม อายุ 54 ปี เข้าร่วมโครงการ"ปลดหนี้ สร้างสุข ส่งเสริมการออม"เนื่องจากมีภาระหนี้บัตรเครดิตและหนี้เงินกู้นอกระบบรวมแล้ว 140,000 บาท เล่าว่า ในช่วงที่ยังไม่ได้เข้าโครงการปลดหนี้ฯ พอถึงเวลาใกล้สิ้นเดือนแต่ละเดือน ก็จะไม่มีสมาธิในการทำงาน เพราะกังวลว่าเงินเดือนจะไม่พอชำระหนี้ แต่หลังจากที่ได้รับอนุมัติให้เข้าโครงการ ชีวิตดีขึ้น มีกำลังใจในการทำงาน มีวินัยทางการเงินมากขึ้น นอกจากสามารถบริหารเงินเพื่อใช้ในแต่ละเดือนเพียงพอแล้ว ยังมีเงินเหลือฝากธนาคาร ทำให้มีเงินออมสะสมไว้อีกก้อนหนึ่งเพื่อเป็นทุนทำมาหากินหลังเกษียณ
แม่บ้านของฟาร์มสุกรพนมสารคาม อายุ 38 ปี เป็นอีกคนหนึ่งที่สมัครเข้าโครงการปลดหนี้ ฯ กล่าวว่า เดิมมีหนี้บัตรเครดิตแค่ใบเดียว แต่มีปัญหาต้องใช้เงิน จึงไปกู้ยืมหนี้นอกระบบทำให้เป็นหนี้เพิ่มขึ้นอีกทาง จากนั้นก็ไปกู้เงินจากที่อื่นมาอีกเพราะคิดว่าจะนำมาโปะหนี้นอกระบบ แต่กู้มาแล้วไม่สามารถโปะหนี้นอกระบบได้หมด กลายเป็นหนี้ 3 ทาง จึงสมัครเข้าโครงการปลดหนี้ฯ ซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยเหลือคนงานได้มาก เพราะตอนที่เป็นหนี้หลายๆทาง ไม่มีความสุขเลย นั่งกังวลว่าจะหาเงินที่ไหนมาใช้หนี้ ส่งผลต่อการทำงานช้าลง ท้อแท้ ไม่อยากทำงาน แต่พอเข้าโครงการฯแล้ว รู้จักวางแผนการเงินและการทำบัญชีรายรับรายจ่ายของครัวเรือน มีเงินใช้จ่ายพอและยังมีอีกส่วนที่เหลือเก็บออมไว้