กรุงเทพฯ--2 ม.ค.--สปส.
ชีวิตของคนเรานอกจากการมีทรัพย์สินเงินทองแล้ว การมีสุขภาพที่ดีหรือการไม่มีโรคภัยไข้เจ็บนั้นก็เป็นสิ่งที่เราทุกคนปรารถนา ดังสุภาษิตที่ว่า “ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” แต่ถ้าเกิดโรคภัยไข้เจ็บกับเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การดูแลตนเองและการได้รับการบริการทางการแพทย์ที่ดีจากรัฐที่ให้กับประชาชน และเป็นสิ่งที่เราทุกท่านต้องการ รวมถึงผู้ป่วยที่เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม
ปัจจุบัน สำนักงานประกันสังคมให้การคุ้มครองดูแลลูกจ้าง ผู้ประกันตนจำนวน 9,177,698 คน และสถานประกอบการจำนวน 381,543 แห่ง (ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550) ซึ่งสำนักงานประกันสังคมได้มีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ในกรณีต่างๆ ให้แก่ผู้ประกันตนมาตลอด เนื่องจากสำนักงานประกันสังคมเล็งเห็นความสำคัญของสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนพึงจะได้รับ ที่จะต้องช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทั้งทางกายและใจของผู้ประกันตนได้
กองทุนประกันสังคมเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิตของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งมีสำนักงานประกันสังคมเป็นหน่วยงานให้ความคุ้มครองดูแลลูกจ้างที่อยู่ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป โดยจ่ายเงินสมทบแล้วได้รับสิทธิประโยชน์ 7 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ที่ไม่เนื่องจากการทำงาน รวมถึงการคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน โดยกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเป็นกรณีที่ผู้ประกันตนใช้สิทธิประกันสังคมมากที่สุด ทั้งนี้ การจะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยได้นั้น ผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 3 เดือนภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนวันรับบริการทางการแพทย์
การเข้ารับการรักษาตัวในสถานพยาบาลประกันสังคม ไม่ว่าจะเป็น “ผู้ป่วยนอก” คือ ป่วยไปพบแพทย์ฯ ตรวจวินิจฉัย จัดยาให้แล้วกลับบ้าน หรือต้องนอนพักรักษาเป็น “ผู้ป่วยใน” ค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นทั้งหมดในโรงพยาบาลตามบัตรฯ ผู้ประกันตนไม่ต้องจ่าย ยกเว้นขออยู่ห้องพิเศษหรือขอแพทย์พิเศษเอง ส่วนสถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกถือเป็น “สถานพยาบาลหลัก” และมีสถานพยาบาลเครือข่าย เช่น โรงพยาบาลขนาดเล็กหรือคลินิก ซึ่งถ้าระบุไว้ผู้ประกันตนก็ไปรักษาพยาบาลได้ ในขณะเดียวกันถ้าโรคบางโรค โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ รักษาไม่ได้ เช่น การรักษาโรคมะเร็ง หรือการผ่าตัดหัวใจ โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ ก็จะมีโรงพยาบาลระดับสูง ที่โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ จะเป็นผู้ส่งตัวผู้ประกันตนไปรักษา โดยที่ ค่ารักษาพยาบาลอยู่ในความรับผิดชอบของโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า สถานพยาบาลในระบบประกันสังคม มี 3 ระดับ คือ สถานพยาบาลหลัก (โรงพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือก) สถานพยาบาลเครือข่าย (เป็นเครือข่ายของสถานพยาบาลหลัก) และสถานพยาบาลระดับสูง (ถูกส่งไปรักษาเมื่อสถานพยาบาลหลักรักษาไม่ได้) ส่วนเรื่องของ “การเจ็บป่วย” แบ่งได้เป็น 3 กรณี คือ เจ็บป่วยปกติ เจ็บป่วยฉุกเฉิน และอุบัติเหตุ
ปัจจุบัน สปส. ได้มีการพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการเยี่ยมผู้ประกันตนที่เป็นผู้ป่วยใน ที่โรงพยาบาลในโครงการประกันสังคม กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการดูแลและ รับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะของผู้ประกันตนในการเข้าพักรักษาตัวในสถานพยาบาลประกันสังคมว่ามีสุขหรือทุกข์อย่างไร รวมถึงการเยี่ยมบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาล เพื่อสอบถามปัญหาต่างๆ ในการทำงาน เพื่อร่วมกันแก้ไขและนำไปปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยมีกำลังใจในการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ สร้างความอบอุ่น และมีทัศนคติที่ดีต่อสำนักงานประกันสังคม และเกิดความมั่นใจในการใช้บริการทางการแพทย์ในระบบประกันสังคมมากขึ้น พร้อมทั้งสนับสนุนให้สถานพยาบาลในโครงการประกันสังคมมีการพัฒนาการให้บริการทางการแพทย์ และดูแลเอาใจใส่ผู้ป่วยประกันสังคมมากยิ่งขึ้น และในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแต่ละครั้ง ทางสำนักงานประกันสังคมจัดให้มีการประเมินผลทุกครั้ง
นายสุรินทร์ กล่าวต่อว่า หากผู้ประกันตนไม่ได้รับบริการทางการแพทย์ที่ดีจากสถานพยาบาลในโครงการประกันสังคม ขอให้แจ้งข้อเท็จจริง เช่น ชื่อ - นามสกุล เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน วันเวลาที่เข้ารับการรักษา และชื่อ- นามสกุลของแพทย์ที่ให้การรักษา โดยส่งข้อร้องเรียนมายังสำนักงานประกันสังคม หรือแจ้งข้อมูลได้ที่กองประสานการแพทย์ฯ โทร. 0-2956-2494-6 และสายด่วนประกันสังคม1506 ได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ หรือร้องเรียนผ่านเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคมได้ที่ www.sso.go.th ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมจะดำเนินการติดตามและแจ้งผลกลับทุกกรณี
นอกจากนี้ หากพบว่าข้อร้องเรียนของผู้ประกันตนในบางกรณีนั้น เกิดจากความเข้าใจผิดของผู้ประกันตน ทางสำนักงานประกันสังคมจะดำเนินการชี้แจงทำความเข้าใจให้ผู้ประกันตนทราบ เช่น ต้องการเข้ารับการรักษาพยาบาลห้องพิเศษ แพทย์พิเศษ โดยส่วนนี้ถือว่าเกินจากมาตรฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งผู้ประกันตนต้องจ่ายเพิ่ม สำหรับในกรณีที่มีการร้องเรียนว่า มีการให้ยาราคาถูกแก่ผู้ประกันตน สปส.จะดำเนินการตรวจสอบทุกกรณี ทั้งนี้ สปส.ขอยืนยันว่าการให้บริการแก่ผู้ประกันตนจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาและการบริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลในโครงการประกันสังคม และผู้ประกันตนจะต้องได้รับบริการทางการแพทย์ตามมาตรฐานการรักษาเดียวกัน ดังนั้น สถานพยาบาลมีหน้าที่ให้บริการทางการการแพทย์แก่ผู้ประกันตนอย่างเต็มกำลังความสามารถของแพทย์และการจัดหายา เวชภัณฑ์ ครุภัณฑ์ รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ เพื่อให้บริการทางการแพทย์เแก่ผู้ประกันตนที่เข้ามารับบริการเป็นไปตามมาตรฐานตามหลักวิชาทางการแพทย์ และมีความเชื่อมั่นในมาตรฐานการรักษาของแพทย์อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม สปส.ตระหนักดีว่า การรักษามาตรฐานการบริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลในโครงการประกันสังคม เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกันตนมีความไว้วางใจ และพึงพอใจในการเข้ารับบริการอันเป็นมาตรฐานเดียวกัน และสปส.จะพัฒนามาตรฐานการบริการทางการแพทย์ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตน ดังคำกล่าวที่ว่า “ ประกันสังคม สร้างสรรค์ หลักประกันชีวิต ”
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ศูนย์สารนิเทศ สายด่วน 1506 www.sso.go.th