กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ชี้แจงเหตุระเบิดเตาหลอมเหล็กที่ บริษัท เหล็กก่อสร้างสยาม จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเหตุการณ์ได้ทั้งหมด จากการตรวจสอบไม่พบการรั่วไหลของสารอันตราย มีผู้บาดเจ็บจำนวน 2 คน ปลอดภัยแล้ว และอีก 2 คน อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
นายพรชัย ตั้งวรกุลชัย – ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เหล็กก่อสร้างสยาม จำกัด เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีข่าวเกิดเหตุระเบิดขึ้นภายในบริษัท เหล็กก่อสร้างสยาม จำกัด ซึ่งประกอบกิจการหลอมเหล็ก และผลิตเหล็กเส้น ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม มาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ได้เกิดระเบิดในช่วงเวลาประมาณ 8.15 น. ขณะอุ่นเตาหลอมเหล็ก (Electric Arc Furnace: EAF) สาเหตุเกิดเบื้องต้นจากระบบจุดเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้ความร้อนเตาหลอม EAF เกิดขัดข้อง ขณะดำเนินการอุ่นเตา ก่อนเริ่มดำเนินการผลิตตามปกติ ทำให้เกิดการสะสมของก๊าซธรรมชาติในเตาหลอม ปริมาณสูงระดับหนึ่ง เมื่อระบบจุดเชื้อเพลิงทำงานได้ เป็นผลให้เกิดการเผาไหม้ของก๊าซธรรมชาติที่สะสมทันที จนเกิดการระเบิดและมีเสียงดังขึ้นบริเวณเตาหลอมเหล็ก ทั้งนี้จากการตรวจสอบความเสียหายเบื้องต้นมีทรัพย์สินเสียหายจากแรงระเบิด เช่น หลังคา ผนังอาคารโรงงานในส่วนการผลิตเหล็กแท่งบางส่วน รวมถึงกระจกในห้องควบคุมบริเวณเตาหลอม EAF ทั้งนี้ไม่พบการฟุ้งกระจายของสารเคมี และไม่ส่งผลกระทบต่อโรงงานข้างเคียง และชุมชนโดยรอบแต่อย่างใด
นายพรชัย ได้เปิดเผยเพิ่มเติมถึง ในส่วนของผู้บาดเจ็บซึ่งเป็นพนักงานโรงงาน จำนวน 4 คน ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลกรุงเทพระยอง โดยผู้บาดเจ็บ 2 คน อาการปลอดภัยแล้ว แพทย์ให้กลับบ้านได้ 1 คน ส่วนอีก 2 คนมีแผลไฟไหม้ และอาการบาดเจ็บเล็กน้อย จึงต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) ได้ให้การดูแลผู้บาดเจ็บอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ทั้งหมดเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โดยทางทีมผู้เชี่ยวชาญจะเร่งดำเนินการเข้าตรวจสอบระบบความปลอดภัยของเตาหลอมเหล็กอย่างด่วนที่สุด และกำลังเดินหน้าซ่อมแซมเครื่องจักร อาคารที่ชำรุดเสียหายโดยเร็ว เพื่อกลับมาเดินหน้าการผลิตอย่างปลอดภัยอีกครั้ง ทั้งนี้บริษัท เหล็กก่อสร้างสยาม จำกัด ได้เชิญการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เข้าดูระบบการผลิตเหล็กเส้นที่โรงงาน พร้อมเปิดเผยข้อมูลความคืบหน้าการป้องกันแก้ไข และมาตรการป้องกันเพิ่มเติม ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ นายพรชัย กล่าวทิ้งท้าย
เกี่ยวกับทาทา สตีล (ประเทศไทย)
บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ "TSTH" ประกอบด้วย สามบริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท เอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ("NTS") ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี บริษัท เหล็กก่อสร้างสยาม จำกัด ("SCSC") ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง และบริษัท เหล็กสยาม (2001) จำกัด ("SISCO") ตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี บริษัทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเหล็กทรงยาวรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีกำลังการผลิต เหล็กแท่ง 1.4 ล้านตัน และเหล็กสำเร็จรูป 1.7 ล้านตัน ประกอบด้วย เหล็กเส้นก่อสร้าง เหล็กลวด เหล็กรูปพรรณขนาดเล็ก เหล็กเพลา และเหล็กเส้นตัดและดัดสำเร็จรูป โดยจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านเครือข่ายผู้จำหน่ายสินค้าทั่วประเทศ รวมถึงส่งออกเหล็กเส้น และเหล็กลวด ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก
รางวัลและความสำเร็จ ในปี 2560 - 2561
บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัล "Thailand Sustainability Investment Award" (รางวัลรายชื่อหุ้นยั่งยืน) จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ "Sustainability Report Award 2017" (รางวัลรายงานความยั่งยืน ปี 2560) ในระดับ "Recognition" จากสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสถาบันไทยพัฒน์
บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัล "Thailand ICT Excellence Award 2017" (รางวัลความเป็นเลิศด้าน ICT ประเทศไทย ปี 2560) ประเภทโครงการพัฒนากระบวนการหลักภายใน
บริษัท เอ็น.ที.เอส. สตีลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประจำปี 2560 ประเภทการบริหารความปลอดภัย จากนายกรัฐมนตรี
บริษัท เอ็น.ที.เอส. สตีลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เหล็กก่อสร้างสยาม จำกัด ได้รับรางวัลสถานประกอบกิจการต้นแบบดีเด่นด้านความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ประจำปี 2560 ระดับประเทศ และบริษัทเหล็กสยาม (2001) จำกัด ได้รับรางวัลในระดับจังหวัด
บริษัท เหล็กก่อสร้างสยาม จำกัด และ บริษัทเหล็กสยาม (2001) จำกัด ได้รับรางวัล CSR – DIW Continuous เป็นปีที่สอง 2560-2561 และบริษัท เอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัล CSR-DIW ประจำปี 2561 จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
บริษัท เอ็น.ที.เอส. สตีลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัล "โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเหมืองแร่ให้มีมาตรฐานสากลเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม ปี 2560" จากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม