กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวภายหลังการแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลกรายการ Moto GP สนามที่ 15 PTT Thailand Grand Prix 2018 ระหว่างวันที่ 5 - 7 ตุลาคม 2561 ณ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้
จากการสำรวจเบื้องต้นของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ในช่วงระยะเวลา 3 วันของการแข่งขันรถจักรยานยนต์ Moto GP มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 205,000 คน แบ่งเป็นชาวไทย ประมาณ 153,750 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75 ของผู้เข้าร่วมงานทั้งหมด โดยเป็นผู้เข้าร่วมงานจากจังหวัดบุรีรัมย์ประมาณ 10,250 คน หรือร้อยละ 6 ในขณะที่เป็นผู้เข้าร่วมงานชาวต่างชาติ ประมาณ 51,250 คน คิดเป็นร้อยละ 25 โดยส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติสัญชาติออสเตรเลีย สวิสเซอร์แลนด์ และอังกฤษ ตามลำดับ โดยการแข่งขันรถจักรยานยนต์ Moto GP สามารถสร้างรายได้รวมประมาณ 3,100 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้
ที่เกิดขึ้นในจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 2,470 ล้านบาท และพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดขอนแก่น จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดนคราชสีมา รวมจำนวน 630 ล้านบาท โดยสามารถแบ่งเป็นการใช้จ่ายในหมวดต่างๆ ได้แก่ ค่าพาหนะการเดินทางจำนวน 764 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24.70 ค่าอาหารเครื่องดื่ม ประมาณ 679 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.90 ค่าที่พัก/โรงแรม จำนวน 642 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.70 ค่าซื้อสินค้าและของที่ระลึก จำนวน 517 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.70 ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จำนวน 349 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.30 และค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิง 146 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.70 ตามลำดับ
ทั้งนี้ การจัดการแข่งขัน Moto GP สามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเป็นมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทางตรงประมาณ 1,335 ล้านบาท เป็นมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทางอ้อม ประมาณ 1,701 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่ 7,749 คน โดยเป็นการจ้างงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 3,831 คน คิดเป็นร้อยละ 49.44 ของการจ้างงานใหม่ทั้งหมด และคาดว่าภาครัฐจะจัดเก็บรายได้ในรูปแบบภาษี ประมาณ 329 ล้านบาท นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ถูกยกระดับเป็น 1 ในจุดหมายปลายทางด้านการแข่งขันจักรยานยนต์ของโลก ผ่านสายตาผู้ชมจากทั่วโลกกว่า 800 ล้านคู่ และคาดว่าปีถัดไป หากประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมในการรับรองผู้ชื่นชอบการแข่งขันจักรยานยนต์ เชื่อว่าประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการจัดการแข่งขันดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะบูรณาการความร่วมมือกับการกีฬาแห่งประเทศไทย สำนักงานสถิติจังหวัดบุรีรัมย์ ในการดำเนินการประเมินผลภาพรวมของการจัดการแข่งขันในครั้งนี้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ทราบถึงประโยชน์ ความคุ้มค่าในด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการจัดการแข่งขัน รวมทั้งการกระจายรายได้สู่ชุมชน ผู้ผลิต ผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งจะสามารถสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดการแข่งขันในครั้งนี้ในการเป็นโมเดลเมืองต้นแบบของการท่องเที่ยวเชิงกีฬา ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ให้ความสำคัญและมีนโยบายอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาและขยายผลความสำเร็จสู่เมืองอื่น ๆ อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำ และนำพาประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีต่อไป