กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 3.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 84.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 2.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 75.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 3.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 82.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 2.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 93.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 3.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 100.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- ผู้ค้าน้ำมันกังวลว่าอุปทานน้ำมันในตลาดอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ หลังสหรัฐฯ คว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบอิหร่านวันที่ 4 พ.ย.61 ทั้งนี้ในการประชุม Energy Forum ณ กรุงมอสโคว ประเทศรัสเซีย อิหร่านประเมินว่าซาอุดีอาระเบียและรัสเซียมีปริมาณการผลิตส่วนเกิน (spare capacity) รวมกันราว 600,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับชดเชยอุปทานของอิหร่านที่จะลดลงจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดีรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบีย นาย Khallid al-Falih กล่าวว่ากลุ่ม OPEC สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ ที่ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- Reuters รายงานอินเดียนำเข้าน้ำมันดิบอิหร่าน เดือน ก.ย. 61 เพิ่มขึ้น 111,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 502,000 บาร์เรลต่อวัน ก่อนมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านจะเริ่มต้นวันที่ 4 พ.ย. 61 และจีนนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน เพิ่มขึ้น 29,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 620,000 บาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้จีนลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ เนื่องจากสงครามการค้า
- ปริมาณส่งออกน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลามีแนวโน้มจะลดลงต่อเนื่อง ล่าสุด Reuters รายงานการซ่อมแซมท่าส่งออกน้ำมัน Jose ของเวเนซุเอลา ซึ่งถูกเรือขนส่งน้ำมันชนได้รับความเสียหายในช่วงปลายเดือน ส.ค. 61 ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกจากท่า Jose ในเดือน ก.ย. 61 อยู่ที่ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากเดือนก่อน 14% และยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการได้ตามกำหนดเดิมที่บริษัท PDVSA คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายเดือน ก.ย. 61 (ทั้งนี้ท่าดังกล่าวส่งออกน้ำมันดิบประมาณ 70% ของปริมาณส่งออกทั้งประเทศ)
- กระทรวงพาณิชย์จีนแถลงโควตานำเข้าน้ำมันดิบ ปี 2562 สำหรับโรงกลั่นเอกชน อยู่ที่ 4.04 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 42 % ทั้งนี้ให้โรงกลั่นเอกชนยื่นความจำนงภายในวันที่ 10 พ.ย. 61
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 ก.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 8.0 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 404.0 ล้านบาร์เรล โดยเฉพาะปริมาณสำรองที่คลัง Cushing รัฐ Oklahoma ที่เป็นจุดส่งมอบน้ำมันดิบ NYMEX WTI ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนถึง 1.7 ล้านบาร์เรล
- EIA รายงานการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เดือน ก.ค. 61 อยู่ที่ระดับสูงสุดรายเดือนเป็นประวัติการณ์ที่ปริมาณ 10.96 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 269,000 บาร์เรลต่อวัน
- บริษัท Plains All American เริ่มดำเนินการระบบท่อขนส่งน้ำมันดิบ Sunrise Pipeline (กำลังสูบถ่าย 500,000 บาร์เรลต่อวัน) ซึ่งเป็นหนึ่งในสองท่อที่ก่อสร้างใหม่เพื่อสูบถ่ายน้ำมันดิบจากแหล่ง Permian ในมลรัฐ Texas ซึ่งเป็นแหล่งผลิต Shale Oil สำคัญของสหรัฐฯ ไปยังคลังน้ำมัน Cushing ที่รัฐ Oklahoma โดยจะสามารถดำเนินการเต็มกำลังในช่วงต้นเดือน พ.ย. 61 เร็วกว่าแผนที่ตั้งไว้ในช่วงไตรมาสที่ 1/62 ท่อดังกล่าวจะช่วยบรรเทาปัญหาอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดในบริเวณ Permian เนื่องจากระบบขนส่งไม่เพียงพอรองรับปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น (ปริมาณการผลิต Shale Oil จากแหล่ง Permian ในเดือน ต.ค. 61 คาดว่าจะอยู่ที่ 3.46 ล้านบาร์เรลต่อวัน)
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดวันศุกร์ปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยทางเทคนิคถือเป็นการพักฐานหลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยตลาดเริ่มคลายความกังวลหลังมีข่าวโรงกลั่นในอินเดียยังคงมีแผนนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านในเดือน พ.ย. 61 แม้เป็นช่วงที่มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ มีผลบังคับใช้แล้ว แต่เป็นการนำเข้าที่ลดลงจากเดือน ต.ค. 61 ที่ระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน สอดคล้องกับที่รัฐบาลสหรัฐฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาผ่อนปรนให้ประเทศที่ซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่านในปริมาณที่ลดลงสามารถนำเข้าต่อไปได้อีกระยะเวลาหนึ่ง นอกจากนั้นสำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า มกุฎราชกุมาร Mohammed Bin Salman (MBS) ของซาอุดีอาระเบีย เผยว่าซาอุฯ กำลังทำตามคำมั่นสัญญาต่อลูกค้าว่าจะจัดจำหน่ายน้ำมันดิบให้เพียงพอตามที่ลูกค้าต้องการ รวมถึงเพื่อชดเชยอุปทานจากอิหร่านที่ลดลง ขณะที่ปัจจุบันปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของ ซาอุฯ อยู่ที่ระดับ 10.70 ล้านบาร์เรลต่อวัน และมีความสามารถในการเพิ่มปริมาณการผลิตอีก 1.30 ล้านบาร์เรลต่อวัน หากตลาดต้องการ และหากมีการลงทุนเพิ่มเติมในการสำรวจและขุดเจาะจะสามารถผลักดันให้ปริมาณการผลิตยืนเหนือระดับ 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน อีกทั้ง MBS ยังคงย้ำถึงแผนการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชน (Initial Public Offering – IPO) ของบริษัทน้ำมันแห่งชาติ Saudi Aramco ว่าจะอยู่ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2563 หรือต้นปี พ.ศ. 2564 จำนวน 5% ของมูลค่าบริษัท หรือราว 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากมูลค่าบริษัทที่คาดว่าอยู่ที่ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดับข่าวลือว่าแผน IPO ถูกกษัตริย์ Salman สั่งยกเลิก ให้จับตามองระบบท่อขนส่งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป Trans Mountain (ปริมาณสูบถ่าย 300,000 บาร์เรลต่อวัน) ในแคนาดา ที่หยุดดำเนินการเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 61 หลังอาจพบเหตุรั่วไหลในบริเวณเมือง Surrey รัฐ British Columbia ประเทศแคนาดา ท่อดังกล่าวใช้ขนส่งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจากรัฐ Alberta มายังท่าส่งออกในรัฐ British Columbia รวมถึงให้จับตามองพายุหมุนเขตร้อน Michael ที่พัดเข้าประเทศคิวบาด้วยความเร็วลม 95 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มก่อตัวเป็นเฮอริเคน รวมถึงมีโอกาสมุ่งหน้าเข้า Gulf of Mexico ของสหรัฐฯ ที่เป็นศูนย์กลางในการผลิตน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และเป็นที่ตั้งของโรงกลั่น (กำลังกลั่นราว 45% ของสหรัฐฯ) สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 82.0-86.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 73.0-77.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 80.5-84.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากแรงซื้อของบริษัท Vitol และ บริษัท Petrolimex ประกอบกับ บริษัท Cosmo Oil Co. ของญี่ปุ่น ปิดซ่อมบำรุง No. 1 CDU (กำลังการผลิต 75,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่นน้ำมัน Chiba (กำลังการผลิต 177,000 บาร์เรลต่อวัน) ตามแผน เป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค. 61 ขณะที่ผู้ค้าคาดว่า Indian Oil Corp. (IOC) ของอินเดียจะหยุดดำเนินการโรงกลั่น Gujarat (กำลังการกลั่น 275,000 บาร์เรลต่อวัน) เพื่อซ่อมบำรุงตามแผน ในช่วงครึ่งหลังของเดือน พ.ย. 61 เป็นเวลา 1 เดือน ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 ก.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 500,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 235.2 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ และ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ต.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 550,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.29 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 11 เดือน อย่างไรก็ตาม Reuters รายงาน โรงกลั่นน้ำมันของบริษัท Citgo ที่ Corpus Christi (กำลังการกลั่น 165,000 บาร์เรลต่อวัน) ในสหรัฐฯ กลับมาดำเนินการหน่วย Alkylation (กำลังการกลั่น 18,100 บาร์เรลต่อวัน) เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 61 หลังหยุดดำเนินการฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 61 อีกทั้ง Petroleum Association of Japan ( PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 ก.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 140,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.21 ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 91.5-95.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการน้ำมันดีเซลในเอเชียเหนือยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่อุปทานยังมีอยู่จำกัด และผู้ค้าคาดว่าจะยังคงตึงตัวไปตลอดช่วงไตรมาส 4/61 เนื่องจากอุปสงค์เพื่อการประมงในจีนเพิ่มขึ้น อีกทั้งภูมิภาคตะวันตกจะเริ่มเก็บปริมาณสำรองเพื่อเตรียมใช้สำหรับฤดูหนาว และนาย Sayed Mohammad Mozammel Hague, Director for Operations and Planning บริษัท Bangladesh Petroleum Corporation (BPC) ของบังกลาเทศคาดปริมาณการนำเข้าน้ำมันดีเซล 0.05 %S ในปี พ.ศ. 2561 อยู่ที่ 33.8 ล้านบาร์เรลเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 12.5 % จากแผนเดิม และเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 29 % เนื่องจากจะเปิดดำเนินการโรงไฟฟ้าใหม่ ที่ใช้ น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง จำนวน 5 แห่ง กำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 800 เมกะวัตต์ ประกอบกับ Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของอินเดีย รายงานความต้องใช้น้ำมันดีเซลในเดือน ส.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.2% มาอยู่ที่ 1.48 ล้านบาร์เรลต่อวัน (8 เดือนแรกของปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.8% มาอยู่ 1.70 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และนักวิเคราะห์คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันดีเซลของอินเดียจะยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่องในปี พ.ศ. 2562 เนื่องจากมีการเลือกตั้งซึ่งโดยทั่วไปความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้น ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 ก.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 136.1 ล้านบาร์เรลต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม บริษัท Fuji Oil ของญี่ปุ่น เริ่มดำเนินการหน่วย CDU (กำลังการกลั่น 143,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Sodegaura (กำลังการกลั่น 143,000 บาร์เรลต่อวัน) หลังหยุดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. 61 จากพายุไต้ฝุ่น Trami ด้านปริมาณสำรอง PAJ รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 ก.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 340,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.11 ล้านบาร์เรล และ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ต.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 620,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.74 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 4 สัปดาห์ ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 97.5-101.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล