กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--โมเดิร์นเทียร์
สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ชูธงสนองเทรนด์กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร หลังไทยเข้าสู่การเป็น "Smart Food Nation" ประกอบกับตัวเลขการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารปี 61 มีแนวโน้มเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% พร้อมมุ่งเตรียม "คน" รองรับการพัฒนาเกษตรที่เป็นรากฐานขนาดใหญ่ การขยายตัวและการแข่งขันของตลาดโลกเศรษฐกิจเสรี พร้อมตอกย้ำความร่วมมือจากเครือข่ายพันธมิตรชั้นนำ ยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้จากมืออาชีพ พร้อมการเรียนทฤษฎีควบคู่การฝึกปฏิบัติงานจริง
ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายในงานเสวนา หัวข้อ "การพัฒนาเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารสู่ตลาดโลก" จัดโดยสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาถือว่ามีแนวโน้มการเติบโตที่ดี โดยในปี 2560 มีมูลค่าการส่งออกกว่า 8.8 ล้านล้านบาท และคาดว่าในปีนี้จะมีอัตราการเติบโตไม่น้อยกว่า 10 % ซึ่งอัตราการเติบโตในภาคธุรกิจอาหารและการเกษตรก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นตามสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่ดี รวมถึงตัวเลขการส่งออกสินค้าเกษตร – อาหารของไทยสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 พบว่า ข้าว เป็นสินค้าภาคการเกษตรและอาหารที่มีการส่งออกมากที่สุด มีมูลค่ากว่า 175,160.8 ล้านบาท และตัวเลขการส่งออกข้าวในรอบ 8 เดือนของปี 2561 (มกราคม - สิงหาคม 2561) มีมูลค่าสูงถึง 115,712.0 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 5.05% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ดี เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านยกระดับการผลิตภาคการเกษตรที่ไทยไม่ควรมองข้าม อาทิ การเทียบเชิงปริมาณคือเวียดนาม ในเชิงคุณภาพคือกัมพูชา ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการเร่งพัฒนาบุคลากรในด้านการเกษตรที่มีคุณภาพมากขึ้นเพื่อรองรับการเติบโต การแข่งขันที่เป็นความท้าทายของตลาดสินค้าเกษตรและอาหารในปัจจุบัน ถือเป็นโจทย์สำคัญของประเทศในการพัฒนาภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ที่ไม่ได้มองแค่ตัวเลขการส่งออก การเพิ่มรายได้เข้าประเทศเท่านั้น แต่ควรมองถึงผลต่อเนื่องของการพัฒนาเกษตรซึ่งเป็นหัวใจของการแก้ปัญหารากฐานของรายได้ประชาชน การเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาพื้นฐานทางสังคม ต้องมีการพัฒนาช่องทางตลาดใหม่ๆ ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล อีกทั้งการพัฒนาภาคการเกษตรให้ยั่งยืน นอกจากมองเรื่องรายได้ผลผลิต หัวใจสำคัญต้องมองว่าทำอย่างไรให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างผลตอบแทนในภาคการผลิตให้มีรายได้ที่เหมาะสม
ด้านนายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ กล่าวว่าสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ได้จัดเสวนาใหญ่ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ในหัวข้อ "การพัฒนาเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารสู่ตลาดโลก" เพื่อเป็นการเผยทิศทางและแนวทางของการพัฒนาเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ
นายก่อศักดิ์ยังกล่าวอีกว่า แนวทางการสร้างบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจเกษตรและอาหารที่สำคัญคือ "การจัดการ" ซึ่งองค์กรจะรุ่งหรือร่วงนั้นก็ขึ้นอยู่กับการจัดการที่ดี พีไอเอ็มจึงได้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างนักจัดการมืออาชีพทางการเกษตรและอาหารที่จะสามารถนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่มากมายมาบูรณาการเข้ากับองค์ความรู้ ที่จะสามารถสร้างสรรค์สังคมเกษตรได้อย่างยั่งยืน ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้
ทั้งนี้ภายในงานยังกล่าวถึงภาพรวมของธุรกิจเกษตรเป็นธุรกิจที่เป็นปัจจุบันและอนาคตของไทย เทรนด์พฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ความสนใจอาหารเพื่อสุขภาพของคนยุค 4.0 ปรับเปลี่ยนเป็น "FoodTech"การผสานระหว่างธุรกิจและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ควรส่งเสริมความสะดวกต่อกันทั้งผู้ซื้อผู้ขาย รวมถึงการเตรียมพร้อมกับสังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) ดังนั้นผู้ประกอบการต้องปรับตัวก้าวทันเสมอ เมื่อเทคโนโลยีคือจุดแข็งของธุรกิจอาหารต้องกล้าลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มคุณภาพ โดยใช้นวัตกรรมที่สามารถช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ดีนอกจากการผลิตอาหารที่มีคุณภาพได้มาตรฐานแล้ว ต้องศึกษากฎหมายของประเทศนั้นๆ และทำการวิจัยในกลุ่มประเทศเป้าหมาย เพื่อให้เกิดความถูกต้องในคุณภาพกับความต้องการและได้รับความเชื่อมั่นว่าธุรกิจมีศักยภาพในระดับสากล ซึ่งเกษตรยุคใหม่คือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ สร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยการวิจัยและพัฒนา ดังนั้นสถานประกอบการต้องเตรียมคนในอนาคตที่มีทักษะที่เกี่ยวข้องสามารถพร้อมสำหรับการทำงานจริง
สำหรับการเสวนาในครั้งนี้มีสุดยอดผู้นำองค์กรระดับแนวหน้าของไทยเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ อาทิ คุณสุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจอาหาร และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน), คุณสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัด, คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ คุณขุนศรี ทองย้อย ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์
การเตรียมความพร้อมของบุคลากรรุ่นใหม่ของประเทศด้านการเกษตรและอาหารนั้นเป็นประเด็นสำคัญ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาทางเลือกของการศึกษาแนวใหม่ กับพันธกิจการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งองค์กรธุรกิจ (Corporate University) แห่งแรกของไทย ภายใต้เครือเจริญโภคภัณฑ์ที่มีประสบการณ์ในภาคเอกชนสะสมมากว่า 100 ปี และ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จึงเปิดการเรียนของ 3 คณะวิชา ได้แก่ คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร คณะอุตสาหกรรมเกษตร คณะการจัดการธุรกิจอาหาร ผ่านหลักการจัดการศึกษารูปแบบ Work-based Education หลอมรวมมืออาชีพและนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร หรือ ซีพี ครอป (CP Crop) ประกอบด้วย ธุรกิจพืชสวนและสวนเกษตร ธุรกิจพืชไร่ และธุรกิจข้าวครบวงจร, กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร, กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ กลุ่มการตลาดและจัดจำหน่าย อีกทั้งพันธมิตรภาคอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มจำนวนมาก เพื่อมุ่งหวังสร้างคนรุ่นใหม่ให้เติบโตท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เสมือนการจำลองการทำงานจริง สั่งสมความเชี่ยวชาญเฉพาะทางให้พร้อมทำงาน มีความรู้ความสามารถตลอดห่วงโซ่ธุรกิจทั้งภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ เป็นบัณฑิตที่ได้คุณภาพตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารในด้านการพัฒนาการผลิตและธุรกิจได้อย่างยั่งยืนในตลาดโลกสอดคล้องไปกับนโยบายและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศชาติ