กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พีบีไอซี) เผยกำหนดการรับตรงหลักสูตรนานาชาติพีบีไอซีปีการศึกษา 2562 ครั้งแรกทั้ง 3 หลักสูตร พร้อมแนะการศึกษาทั้งด้านรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ศิลปศาสตร์ แบบกว้าง และเจาะลึกบริเวณศึกษา (Area Study) ในไทย จีน และอินเดีย ตอบโจทย์ความต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในอนาคต อีกทั้งเปิดความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยคู่สัญญาระดับโลกด้านสังคมศาสตร์ SOAS University และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วโลก เพิ่มโอกาสที่มากกว่าสำหรับนักศึกษาพีบีไอซีโดยเฉพาะ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิธินันท์ วิศเวศวร คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ (พีบีไอซี) เป็นวิทยาลัยนานาชาติด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่มุ่งผลิตบัณฑิตที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในบริเวณศึกษา (Area Study) ที่มีความน่าสนใจในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น ไทย จีน หรืออินเดีย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งมีแง่มุมที่น่าสนใจศึกษาอย่างเจาะลึก ทั้งด้านรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และศิลปศาสตร์ ประกอบกับในปัจจุบันความต้องการของตลาดแรงงาน ยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้แบบลึกซึ้งในทุกแง่มุมในพื้นที่ดังกล่าว อีกทั้งหลักสูตรทั้ง 3 อันได้แก่ ไทยศึกษา จีนศึกษา และอินเดียศึกษา ยังมีการเรียนการสอนที่เป็นภาษาอังกฤษ นอกจากนี้จุดเด่นของหลักสูตรคือ การสนับสนุนให้นักศึกษาได้มีโอกาสศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมที่มหาวิทยาลัยคู่สัญญาชื่อดังต่างประเทศ เพื่อเสริมทักษะความรู้ที่ลุ่มลึก และการสื่อสารในภาษาอังกฤษและภาษาที่สาม ทั้งจีนและฮินดี ซึ่งถือเป็นภาษาที่ยิ่งรู้ ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการทำงานในอนาคตมากขึ้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิธินันท์ กล่าวเพิ่มว่า สำหรับปี 2562 หลักสูตรไทยศึกษา พีบีไอซี เป็นหลักสูตรที่ศึกษาเกี่ยวกับบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมไทยอย่างลึกซึ้ง ด้วยการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งตอบโจทย์นักเรียนไทยที่ต้องการเรียนรู้บริบทของประเทศไทยอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งนักเรียนต่างชาติที่สนใจความเป็นไทย และมองหาอนาคตการทำงานเกี่ยวกับประเทศไทย นอกจากนี้หลักสูตรไทยศึกษายังได้พัฒนาความร่วมมือทางด้านวิชาการให้เข้มข้นยิ่งขึ้น ผ่านการลงนามความร่วมมือหลักสูตรสองปริญญา (Double Degree) กับ School of Oriental and African Studies (SOAS) University of Londonซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกด้านสังคมศาสตร์ โดยนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการนี้จะได้เรียนที่วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ และที่ SOAS University แห่งละ 2 ปี และจะได้รับวุฒิปริญญาตรีจากทั้ง 2 มหาวิทยาลัย ถือเป็นการเพิ่มโอกาสที่มากกว่าในการศึกษาทั้งในและต่างประเทศภายในระยะเวลา 4 ปี นอกจากนี้พีบีไอซียังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ ทั้งในสหรัฐฯ ได้แก่ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California) มหาวิทยาลัยชั้นนำในอังกฤษ ได้แก่วิทยาลัยเพมโบรก (Pembroke College, University of Cambridge) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) และ มหาวิทยาลัยเอดินบะระ (University of Edinburgh)มหาวิทยาลัยชั้นนำในจีน ได้แก่ School of International Studies (SIS)มหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University) มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้(Shanghai International Studies University: SISU)มหาวิทยาลัยซานตง (Shandong University) และมหาวิทยาลัยฟูดั้น(FudanUniversity) เป็นต้น มหาวิทยาลัยชั้นนำในอินเดีย ได้แก่ มหาวิทยาลัยจันดิการ์ (Chandigarh University) และ มหาวิทยาลัย มุสลิมอาลีการ์ (Aligarh Muslim University) เป็นต้น เพื่อเป็นทางเลือกที่เพิ่มขึ้นของนักศึกษาในแต่ละหลักสูตร
ในปีการศึกษา 2562 ถือเป็นปีแรกที่วิทยาลัยได้ออกกำหนดการรับสมัครนักศึกษาเอง (รับตรง) เพื่อรองรับนักศึกษาที่มีความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษโดยเฉพาะ ทั้งนักศึกษาชาวไทยและต่างชาติที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์การรับสมัคร โดยในการรับสมัครรอบแรก (อินเตอร์1) หรือรอบพอร์ตโฟลิโอ 1 พิจารณาจากคะแนนวัดระดับภาษาอังกฤษเป็นหลัก ประกอบกับแฟ้มสะสมผลงาน ซึ่งจะเปิดรับสมัครออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม ถึง 30 พฤศจิกายน 2561 ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมและกำหนดการรับสมัครในรอบต่อไป สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://www.pbic.tu.ac.th หรือเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/pbic.tu สอบถามโทร. 0-2613-3701
"สำหรับการศึกษาในหลักสูตรไทยศึกษา จีนศึกษา และอินเดียศึกษาของพีบีไอซีในปัจจุบัน ถือว่ามีการพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์ความต้องการในตลาดแรงงานของประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าจับตามอง เห็นได้ชัดจากตัวเลขจีดีพี ข้อมูลภาพรวมเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศจีน และประเทศอินเดีย ปี 2561 โดย องค์การเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ(Organisation for Economic Co-operation and Development:OECD) พบว่าประเทศที่มีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุด 2 อันดับแรกของเอเชียในปีที่ผ่านมา ได้แก่ จีน และอินเดีย ตามลำดับ โดยจีนมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของตัวเลขจีดีพีอยู่ที่ร้อยละ 6.8 และอินเดีย อยู่ที่ร้อยละ 6.6 ในขณะที่ไทยเองก็เป็นประเทศผู้นำด้านเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียนเช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นจุดศูนย์กลางการลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิก อีกทั้งในปีที่ผ่านมา มีตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อยละ 3.8 หรือนับว่าเป็นอันดับที่ 4 ในกลุ่มประเทศสมาชิก"
จากตัวเลขสถิติที่กล่าวมาทั้ง 3 ประเทศ ถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต เป็นอีกทางเลือกที่สดใสของคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะคว้าโอกาสเหล่านี้ไว้จากการประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับประเทศเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น นักธุรกิจระหว่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ นักการเมืองการปกครอง ธุรกิจท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งอาชีพเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความรู้ ความใจบริบทต่างๆ ในประเทศนั้นๆ ทั้งรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และศิลปศาสตร์อย่างลึกซึ้ง ซึ่งในตลาดแรงงานยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ที่กว้างและลึกในพื้นที่เฉพาะดังกล่าวอยู่เป็นจำนวนมาก การเรียนในหลักสูตรทั้ง 3 ของพีบีไอซีเป็นอีกทางเลือกน่าสนใจที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคตได้อย่างแน่นอนผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิธินันท์ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับนักเรียน หรือผู้ปกครองที่สนใจข้อมูลรายละเอียดหลักสูตรและการรับสมัครสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.pbic.tu.ac.th สอบถามโทร.0-2613-3701 หรือเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/pbic.tu