กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--
ผลการสำรวจความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษโดยรวมของคนไทยถึงแม้ยังจัดอยู่ในเกณฑ์ไม่สูงมากนัก แต่ก็มีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าคนไทยให้ความสำคัญกับการสื่อสารภาษาอังกฤษโดยเฉพาะในการทำงาน นั่นเพราะองค์กรต่างๆ ได้เอาความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษมาเป็นตัวชี้วัดเพื่อคัดกรองบุคลากรที่มีศักยภาพเข้าสู่องค์กรของตนเอง คำถามชวนคิดต่อคือในปัจจุบันมีการทดสอบความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษแบบไหนที่สามารถตอบโจทย์คนไทยได้มากที่สุด ทั้งเรื่องมาตรฐานที่เป็นระดับสากล และก็ต้องเข้าใจถึงบริบทของวัฒนธรรมในประเทศนั้นๆ เพราะอย่าลืมว่าภาษาเหมือนกันแต่การใช้แตกต่างกัน วันนี้ศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เปิดบริการ CU-TEC (Chulalongkorn University Test of English for Communication) เพื่อตอบโจทย์คนทำงานยุค 4.0 ที่ภาษาอังกฤษถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดย CU-TEC เป็นการทดสอบวัดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในการทำงาน ซึ่งขณะนี้ได้รับความสนใจจากผู้ที่ต้องการนำผลการทดสอบไปใช้ในการทำงาน และหลายองค์กรชั้นนำมีความเชื่อมั่นในการทดสอบ รองศาสตราจารย์ สุทัศน์ รัตนเกื้อกังวาน กรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลง กรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับการทดสอบ CU-TEP (Chulalongkorn University Test of English Proficiency) คือการทดสอบวัดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการศึกษา แต่ CU-TEC คือการทดสอบภาษาอังกฤษเพื่อใช้สำหรับการสื่อสารในการทำงานโดยเฉพาะ "เราจัดสอบ CU-TEP มานานแล้วเพื่อใช้สำหรับเรียนต่อ แต่ CU-TEC คือเพื่อใช้สำหรับการสื่อสารภาษาอังกฤษในการทำงานโดยเฉพาะ เพราะฉะนั้น CU-TEC จะตอบโจทย์คนทำงาน เพราะเราจะเน้นมากเกี่ยวกับเรื่องการสื่อสารมากกว่าความรู้ในเนื้อหา ต้องการให้เกิดการติดต่อสื่อสารภาษาอังกฤษให้ได้จริง" รองศาสตราจารย์ สุทัศน์ กล่าว
ภาษาอังกฤษที่เข้าใจคนไทย กรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางของโลก ไว้สำหรับในการติดต่อสื่อสารกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ระหว่างผู้ผลิต (Supplier) กับลูกค้า พูดง่ายๆ คือเป็น Business Language ไม่ใช่เป็นAcademic Language เพราะฉะนั้นศูนย์ทดสอบฯ จึงได้พัฒนา CU-TEC ขึ้นมาโดยมีมาตรฐานเทียบเท่ากับการทดสอบอื่นของต่างประเทศซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของคนไทย แต่สิ่งที่เรามีมากกว่า หรือได้เปรียบกว่าก็คือความเข้าใจคนไทยมากกว่า
"เรื่องมาตรฐาน CU-TEC นั้นเทียบเท่าการทดสอบของต่างประเทศแน่นอน แต่สิ่งที่ CU-TEC มีมากกว่าและได้เปรียบกว่า คือ เราเข้าใจถึงบริบท หรือที่เรียกว่า Culture ของประเทศไทย เพราะการใช้ภาษาอังกฤษสำหรับการสื่อสารในเมืองไทย ก็จะมี International Environment ที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย ยกตัวอย่างเช่นคำว่า หิมะ คนที่อยู่ในประเทศที่มีหิมะตกก็จะคุ้นชิน แต่คนในบ้านเราหรือคนไทย อาจไม่เข้าใจถึงความหมายได้อย่างลึกซึ้ง หรือคนไทยใครๆ ก็รู้จักมด ถ้าสมมติเราพูดถึงมดที่ฟินแลนด์ เขาก็อาจไม่เข้าใจเพราะไม่รู้จักว่ามดหน้าตาเป็นอย่างไร" กรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว
ส่วนร่วมในการคัดเลือกคน CU-TEC ขอมีส่วนร่วมในการคัดเลือกบุคลากรด้านความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษให้กับนายจ้าง องค์กร และอื่นๆ ด้วยทีมคณาจารย์ที่มีความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษไม่แพ้คนต่างชาติที่ได้มาร่วมกันจัดทำแบบทดสอบ แต่มีความเข้าใจวัฒนธรรมของคนไทย และนี่คือจุดเด่นของ CU-TEC "ผมมั่นใจว่า Content ภาษา ผมไม่ด้อยกว่ารายอื่นๆ แต่เรามีความได้เปรียบแน่ๆ เพราะเรารู้จักวัฒนธรรม อันนี้สำคัญ ในเนื้อหาผมว่าไม่มีปัญหา เพียงแต่ว่าเรายังไม่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก ผมกำลังจะบอกว่าการออกข้อสอบ ไม่ว่าจะเป็น Reading Speaking หรืออื่นๆ ใช้คนของเราในการออกข้อสอบได้ หรืออาจจะใช้คนต่างชาติก็ได้ แต่ในภาพรวมการจัดการทั้งหมดก็ต้องเป็นคนไทยที่รู้เรื่องดีที่สุด เรามีคนของเราอยู่ในนั้น ที่มีความสามารถ ความรู้ เข้าใจ เข้าถึง ในภาษาอังกฤษ" การทดสอบภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร หรือ CU-TEC เป็นการวัดความรู้และความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษทั้ง 4 ทักษะ ประกอบไปด้วย CU-TEC Listening & Reading เป็นการวัดทักษะด้านการฟังและการอ่าน และCU-TEC Speaking & Writing เป็นการวัดทักษะด้านการพูดและการเขียน โดยจะทำการทดสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ โดยปัจจุบันมีผู้สนใจสมัครเข้ารับการทดสอบเพื่อนำผลทดสอบไปใช้ในการสมัครงานเป็นจำนวนมากซึ่งผลทดสอบดังกล่าวได้รับความมั่นใจจากองค์กรชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศ ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้พัฒนาคุณภาพการให้บริการและมาตรฐานของแบบทดสอบ จนได้รับการยอมรับในเรื่องมาตรฐานในการทดสอบ สามารถเป็นแหล่งอ้างอิงด้านการทดสอบทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาฯ ยังได้ดำเนินการพัฒนาแบบทดสอบประเภทต่างๆ เพื่อมุ่งตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้รับบริการในทุกระดับ