กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
กรมส่งเสริมสหกรณ์เร่งสำรวจเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเป้าหมายในการดำเนินโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังนา พร้อมสั่งการสหกรณ์จังหวัดจับมือพัฒนาที่ดิน ชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตรและธกส. ร่วมลงพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการจูงใจ เพื่อให้เกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการ คาดจะได้จำนวนเกษตรกรและพื้นที่ปลูกข้าวโพดตามเป้าหมายภายในวันที่ 15 ตุลาคม นี้
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้สหกรณ์จังหวัดในพื้นที่ 33 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังนา ระดมเจ้าหน้าที่เร่งสำรวจจำนวนเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตรที่จะเข้าร่วมโครงการ โดยลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตรและธกส.แต่ละจังหวัด เพื่อร่วมชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรถึงมาตรการจูงใจที่จะเชิญชวนให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการปลูกข้าวโพดหลังนา ซึ่งจะเริ่มฤดูกาลเพาะปลูกในเดือนพฤศจิกายน นี้ โดยรัฐบาลได้สนับสนุนการดำเนินโครงการดังกล่าวโดยอนุมัติสินเชื่อผ่านธกส.อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ระยะเวลา 6 เดือน ให้เกษตรกรเป็นค่าปัจจัยการผลิตและเตรียมแปลง ไร่ละ 2,000 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะปลูก การสนับสนุนเบี้ยประกันภัย 65 บาทต่อไร่ เมื่อได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติจะได้รับเงินชดเชย ไร่ละ 1,500 บาท
นอกจากนี้ ยังให้สหกรณ์การเกษตรเป็นตัวกลางในการเจรจากับภาคเอกชนในการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าตามราคาประกาศของกระทรวงพาณิชย์และอยู่ภายใต้พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาเกษตรพันธะสัญญา พ.ศ.2560 โดยให้สหกรณ์การเกษตรทำหน้าที่บริหารจัดการผลผลิต ตั้งแต่การจัดหาเมล็ดพันธุ์คุณภาพให้แก่สมาชิก การจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อบริการเกษตรกร การรวบรวมผลผลิตข้าวโพดเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว โดยสามารถขอกู้สินเชื่อจากธกส.ได้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 และการประสานเอกชนกำหนดจุดรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในพื้นที่ เบื้องต้นมีสหกรณ์การเกษตรทั้งในพื้นที่ชลประทานและนอกเขตชลประทานสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว 205 แห่ง
"ล่าสุดได้มีการประชุมหารือเพื่อเร่งรัดการสำรวจความต้องการของเกษตรกรในการเข้าร่วมโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา โดยนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้เร่งสำรวจความต้องการของเกษตรกร โดยให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนในการลงสำรวจในทุกตำบลในเขตชลประทาน เพื่อเกษตรกรเข้าใจและตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งมอบหมายให้ผู้บริหารของกรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมส่งเสริมสหกรณ์ ติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด ในพื้นที่ 9 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมและเกษตรกรมีแนวโน้มเข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มขึ้น ได้แก่ กำแพงเพชร กาฬสินธุ์ นครสวรรค์ พิจิตร เชียงราย พิษณุโลก นครราชสีมา สุโขทัย และอุตรดิตถ์ ซึ่งอธิบดีและรองอธิบดีทุกหน่วยงาน จะลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าในพื้นที่ทั้ง 9 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 10ตุลาคม 61 เป็นต้นไป" อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว