กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่เกาะติดสถานการณ์ภัยแล้งของภาคอีสาน ชี้แนวโน้มฝนลดลง ย้ำไม่นอนใจ มอบทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อง เตรียมแผนบูรณาการรับสถานการณ์ใกล้ชิด
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เผยหลังรับฟังการบรรยายสรุปแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2561/2562 ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น และลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ที่สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า บ้านโนนฆ้อง ต.บ้านผือ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ว่า สืบเนื่องจากพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภูมิภาคที่มีการทำเกษตรมากที่สุดของประเทศ รวม 63.85 ล้านไร่ แต่มีพื้นที่ชลประทานเพียง 6.38 ล้านไร่ หรือ 10% ของพื้นที่การเกษตร ซึ่งเกษตรกรต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลักในการทำการเกษตร จึงทำให้ปริมาณของผลผลิตขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศเป็นหลัก สทนช. จึงหาแนวทางในการปรับปรุงการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยได้ดำเนินโครงการศึกษาติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีปัญหาการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากมีแหล่งเก็บน้ำรวม 12,440.17 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือ 21.95% ของปริมาณน้ำท่า แต่มีมีความต้องการใช้น้ำในปัจจุบันรวม 27,524.68 ล้าน ลบ.ม. หรือ 2.21 เท่าของปริมาณกักเก็บ ทั้งนี้ในอนาคตเมื่อประชากรเพิ่มขึ้นและภาคอุตสาหกรรมขยายตัวมากขึ้นปัญหาความต้องการน้ำก็จะยิ่งมากขึ้น โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตรยังขาดแคลนถึง 11,500 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ส่วนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้เกือบเต็ม 100% สอดคล้องกับเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์น้ำและตัวชี้วัด SDGs ที่มุ่งเน้นให้ครัวเรือนมีน้ำสะอาดสำหรับดื่มและใช้อย่างทั่วถึงเท่าเทียมกัน
สำหรับในช่วงฤดูแล้งของปี 2561 ต่อเนื่อง 2562 สทนช. ได้ประสานบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในส่วนของกรมชลประทานได้เร่งประสานหน่วยงานในพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้งหน่วยงานด้านประมง ปศุสัตว์ เกษตร อุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดมาตรการในการบริหารจัดการน้ำในสภาวะภัยแล้งร่วมกัน ในส่วนของแหล่งน้ำขนาดใหญ่ สทนช. ได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งรับผิดชอบเขื่อนใหญ่ ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพราะช่วงหลังจาก 15 ตุลาคม ไปแล้ว ปริมาณฝนจะลดน้อยลง จึงควรพิจารณาเก็บน้ำไว้ในเขื่อนให้มากที่สุดโดยลดการระบายน้ำลง ทั้งนี้ การดำเนินงานของทุกส่วนงานจะบูรณาการความร่วมมือบนพื้นฐานข้อมูลชุดเดียวกันเป็นหลัก
นายสมเกียรติ กล่าวต่ออีกว่า จากแนวโน้มการคาดการณ์ฝนที่ลดลงดังกล่าว ศูนย์เฉพาะกิจฯ ได้แจ้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงข้อสั่งการและข้อห่วงใยของรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ) ที่มอบหมายให้ สทนช. ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในแผนการบริหารจัดการน้ำและการปฏิบัติการฝนหลวง ที่จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักก่อนสิ้นสุดฤดูฝนตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ในกลางเดือนตุลาคมนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีความต้องการใช้น้ำในการทำการเพาะปลูกจำนวนมาก สทนช. จึงเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนปรับลดการระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำทุกขนาด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีน้ำต้นทุนน้อย เพื่อเร่งกักเก็บน้ำให้มีปริมาณน้ำใช้พอเพียงตลอดฤดูแล้งนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการหารือถึงแผนปฏิบัติการเพื่อลดผลกระทบในพื้นที่เสี่ยงที่อาจจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แล้งล่วงหน้าไว้แล้ว โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรจะต้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด