หลายประเทศเร่งผลักดันฉลาก Trans fat ตามกระแสใส่ใจสุขภาพทั่วโลก

ข่าวทั่วไป Thursday January 3, 2008 11:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ม.ค.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์
ไขมัน เป็นที่รู้จักกันดีว่าส่งผลเสียต่อสุขภาพไม่เฉพาะแต่ทำให้อ้วนเท่านั้นแต่ยังมีอันตรายอื่นแฝงมา ประเทศทั้งในยุโรป อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้มีการตื่นตัวเพื่อระวังกันมากขึ้น โดยเฉพาะ “ไขมันชนิดทรานส์” หรือ Trans Fatty Acid หรือ TFA สิ่งที่น่ากลัวสำหรับไขมันชนิดนี้ คือ นอกจากจะเข้าไปทำลายไขมันดี (HLD) ที่จำเป็นต่อร่างกายแล้ว ยังเข้าไปเพิ่มปริมาณไขมันร้าย (LDL) ในร่างกายด้วย ซึ่งหากบริโภคไขมันชนิด ทรานส์ติดต่อกันเป็นเวลานานจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย โดยเฉพาะภาวะหัวใจขาดเลือดหรือหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ไขมันชนิดทรานส์นี้พบมากใน มาการีน (เนยเทียม) ชอตเทนนิ่ง (เนยขาว) ครีมเทียม และน้ำมันที่ใช้ทอดซ้ำจนเริ่มหนืด ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่มีส่วนผสมของไขมันชนิดทรานส์ อาทิเช่น เบเกอรี่ เค้ก คุกกี้ โดนัท แคร็กเกอร์ และขนมขบเคียว
ระยะหลังมานี้หลายๆประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับอันตรายของไขมันชนิดทรานส์มากขึ้น เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา และเดนมาร์ก ได้ออกกฎหมายบังคับให้แสดงฉลากอาหารที่ระบุปริมาณไขมันชนิดทรานส์ในฉลากโภชนาการบนบรรจุภัณฑ์อาหารทุกชนิด นอกจากนี้ในสหรัฐอเมริกา ได้มีความพยายามที่จะปรับรูปแบบการนำไขมันชนิดทรานส์มาใช้กับอาหารให้น้อยลงหรือไม่ใช้เลยโดยเฉพาะในร้านอาหาร เช่น ในรัฐนิวยอร์ก แคลิฟอร์เนีย และมอนต์โกเมอรี่เค้าท์ตี้ ได้ออกประกาศห้ามบรรดาร้านอาหาร ภัตตาคาร ตลอดจนผู้ประกอบการด้านอาหารใช้ไขมันทรานส์ในการปรุงอาหาร รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการลดหรือเลิกบริโภคไขมันชนิดนี้
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่าสำหรับในประเทศไทย ถึงแม้ว่ายังไม่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องระบุปริมาณไขมันชนิดทรานส์บนฉลากอาหาร แต่จำนวนประชากรในประเทศไทยที่มีอัตราการป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดที่เพิ่มขึ้น ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ผู้บริโภคควรตระหนักและระวังเอาไว้ การติดฉลากระบุปริมาณไขมันชนิดทรานส์ก็เป็นหนทางหนึ่งที่อาจช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพได้ดีขึ้น สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งควรเพิ่มการรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความตระหนักในการอ่านฉลากแสดงข้อมูลโภชนาการก่อนเลือกซื้ออาหารสำเร็จรูปทุกครั้ง เพื่อความมั่นใจว่าปริมาณไขมันชนิดทรานส์และชนิดอื่นๆที่จะรับประทานในครั้งต่อไปไม่สูงเกินปริมาณแนะนำ แม้ว่าทั่วโลกจะตระหนักถึงอันตรายจากไขมันชนิดทรานส์มากขึ้น แต่การยกเลิกหรือห้ามใช้ในทันทีนั้นยังมีปัญหากับภาคอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากไขมันชนิดนี้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการผลิตอาหาร เนื่องจากมีราคาถูกกว่าการใช้ไขมันจากสัตว์หรือพืชและยังช่วยให้อาหารเก็บรักษาได้นานขึ้น แต่เมื่อผลการวิจัยจากหลายประเทศได้ยืนยันชัดเจนแล้วว่าไขมันชนิดทรานส์มีอันตรายสูงต่อผู้บริโภค ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรมอาหารอาจจะต้องดำเนินการต่อไปนี้
1. อุตสาหกรรมที่ยังคงใช้ไขมันชนิดทรานส์เป็นส่วนประกอบในการผลิตอยู่ต้องหันมาปรับเปลี่ยนใช้ไขมันชนิดอื่นทดแทน แต่ยังเป็นข้อกังวลว่าอาจส่งผลให้รสชาติอาหารเปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตามสิ่งที่อาจทำได้ก็คือลดปริมาณการใช้ลงหรือพยายามใช้ไขมันจากธรรมชาติให้มากขึ้น ถึงแม้ว่าอาจเพิ่มต้นทุนการผลิตและส่งผลต่อราคาสินค้า แต่จะช่วยให้ผู้บริโภคที่ชื่นชอบอาหารเพื่อสุขภาพหันมาเลือกซื้อมากขึ้นแทน
2. พิจารณาให้มีการติดฉลากแสดงปริมาณไขมันชนิดทรานส์ ประเทศไทยถึงแม้ว่าจะไม่รุนแรงอย่างเช่นประเทศในกลุ่มยุโรปและอเมริกา แต่หากเรายังบริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันเช่นทุกวันนี้การติดฉลากคงเป็นสิ่งจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าผู้ผลิตคงต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการวิเคราะห์ปริมาณไขมันชนิดทรานส์รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการปรับเปลี่ยนฉลากใหม่ แต่เมื่อคำนึงถึงผลในระยะยาวต่อผู้บริโภคแล้วก็คุ้มค่าสำหรับการดำเนินการ
สำหรับผู้บริโภค เมื่อทราบถึงอันตรายจากไขมันชนิดทรานส์แล้ว ควรละเว้นการบริโภคอาหารที่มีไขมันชนิดนี้สูง เช่น มาการีนหรือเนยเทียม ช็อตเทนนิ่ง ครีมเทียม และน้ำมันทอดซ้ำจนเริ่มหนืด และลดอาหารที่มีความเสี่ยงรองลงมา ได้แก่ ไก่ทอด ผลิตภัณฑ์จากนมต่างๆ คุกกี้ เวเฟอร์ ขนมปัง มันฝรั่งทอด และขนมขบเคี้ยว รายงานจากจากประเทศสหรัฐอเมริกายืนยันว่า หากลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันทรานส์เพียงครึ่งเดียวจะสามารถป้องกันการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดได้ร้อยละ 10-12 และหากไม่รับประทานเลยจะป้องกันได้ถึงร้อยละ 18-22 โดยหันไปรับประทานอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัวแทน นักโภชนาการแนะนำว่าเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการบริโภคไขมันชนิดทรานส์ ควรเลือกบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ เลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ อาทิ ธัญพืช อาหารโปรตีนจากปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไม่ติดหนัง และดื่มน้ำนมขาดไขมันหรือไขมันต่ำ จำกัดการรับประทานอาหารไขมัน ขนมหรืออาหารสำเร็จรูป ซึ่งมีไขมันชนิดทานส์แฝงอยู่ ถ้าจำเป็นต้องใช้เนยเทียม ก็ให้เลือกใช้ชนิดเหลว ซึ่งจะมีปริมาณไขมันชนิดทรานส์น้อยกว่าชนิดแข็ง และไม่ควรลืมระวังไขมันไม่ดีอื่นๆด้วย
หมายเหตุ หากสนใจการวิเคราะห์ปริมาณไขมันชนิดทรานส์ในอาหารสามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดได้ที่สถาบันอาหาร โดยใช้ระยะเวลาไม่เกิน 5 วันทำการ
รายละเอียดเพิ่มเติม : บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด
สุขกมล งามสม โทรศัพท์ 0 89484 9894, 0 2691 6302-4, 0 2274 4961-2

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ