กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--ไอแอมพีอาร์
ข้อมูลและสถานการณ์ผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยจากสำนักงานสถิติแห่งชาติได้สำรวจไว้ล่าสุดเมื่อ ปี พ.ศ. 2560 พบว่าว่ามีผู้สูบบุหรี่ทั้งหมด 10.7 ล้านคน คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 19.1 ของประชากรทั้งหมด และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 20.7 ในปี 2557 แต่กลุ่มผู้สูบอายุ 15 ปีขึ้นไปยังลดลงไม่มากนัก และพบว่ากลุ่มผู้ที่ติดบุหรี่มากที่สุดของประเทศนั้นอยู่ในพื้นที่ภาคใต้
ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีผู้สูบบุหรี่จำนวนมาก ภาคีเครือข่ายในชุมชนจึงได้ร่วมใจกันดำเนิน โครงการ "การเฝ้าระวังป้องกันเพื่อควบคุมยาสูบโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน บ้านไม้แดง ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช" โดยการสนับสนุนของ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
อุไรวรรณ พานทอง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.บ้านไม้แดง ให้ข้อมูลว่าเมื่อปี พ.ศ. 2558 หมู่บ้าน 7 แห่งในพื้นที่ดำเนินงานมีประชากร 7,000 กว่าคน พบว่ามีผู้สูบบุหรี่อายุ 15 ปีขึ้นไปจำนวน 1,402 คน หรือร้อยละ 21.22 และยอมรับว่าแต่เดิมการใช้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการรณรงค์แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ต่อมาเมื่อใช้ประชาชนในชุมชนเป็นฐาน ใช้แกนนำชาวบ้านมาร่วมกันคิดร่วมกันทำ ทำให้เกิดกระบวนการแก้ปัญหาที่ชาวบ้านมีส่วนร่วม
"ก่อนเริ่มโครงการให้ อสม.ไปสำรวจข้อมูล และมีลูกเด็กเล็กแดงในครอบครัวก็จะมีผู้ได้รับผลกระทบจากบุหรี่มือสองอีก 2-3 เท่า วิธีการดำเนินงานของเราคือใช้ชุมชนเป็นฐานทั้งมาตรการ นโยบาย กลุ่มเป้าหมายคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งก็คือทุกคนที่อยู่ในชุมชน แกนนำก็จะได้รับการอบรมการกดจุดลดบุหรี่ อบรมให้รู้ถึงข้อดีข้อเสีย โดยเราได้สร้างทีมงานขึ้นมาด้วย เริ่มตั้งแต่การสำรวจ การคืนข้อมูล ทำประชาคม พัฒนาแกนนำขึ้นมา แล้ววางแผนออกแบบว่าจะทำอย่างไร มีขั้นตอนอย่างไร ร่วมกันดำเนินการตามแผน ติดตามประเมินผล ถอดบทเรียน"พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.สต.บ้านไม้แดง กล่าว
อุไรวรรณบอกยังบอกอีกว่า การสำรวจข้อมูลได้ดำเนินการโดยอาสาสมัคร เจ้าหน้าที่ชุมชนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 พบว่าส่วนใหญ่ผู้ชายจะสูบมากกว่าผู้หญิงเพราะวัฒนธรรมคนใต้ นิยมสูบใบจากนั่งดูนกดูปลาหรือไปเลี้ยงวัว ส่วนมากเป็นยาเส้น ใบจาก หรือใบชุมเห็ดที่มียาเส้นอยู่ข้างใน ส่วนที่เป็นนักสูบหน้าใหม่เป็นวัยรุ่นมีอยู่ร้อยละ 50 เมื่อรู้กลุ่มเป้าหมายอาสาสมัครก็จะเข้าหาหลายๆ กลุ่ม โดยใช้กระบวนการที่ไม่เหมือนกัน
"ถ้าเป็นนักสูบหน้าใหม่เราลงไปที่โรงเรียนใช้กระบวนการรณรงค์ กลุ่มเสี่ยงอีกอย่างที่มารับบริการตรวจวัดความดัน เบาหวานทั้งที่เป็นคนไข้หรือญาติจะใช้กระบวนการให้แกนนำที่อยู่เวรสอนการนวดกดจุด การจัดกิจกรรมในงานประเพณีต่างๆ ที่มีผู้มาร่วมกิจกรรมมากๆ เราจะไปออกบูธ แกนนำไปช่วยกันรณรงค์ บริการนวดฝ่าเท้า แจกเอกสาร ทำรรณงค์ร่วมกับกลุ่มจักรยานอย่างต่อเนื่อง รณรงค์ร้านค้าปลอดบุหรี่ ให้ อสม.ไปชักชวนในจำนวน 50 ร้านค้าเข้ามาร่วม 44 ร้านค้า เรามีกิจกรรมเยี่ยมติดตามถอดบทเรียนเป็นระยะถ้าพบปัญหาก็จะมาแก้ไขกัน รายไหนไม่สามารถเลิกได้ก็ให้มาปรึกษาเรา มีการประชาสัมพันธ์ แจกแผ่นพับ เสียงตามสาย วิทยุชุมชน กิจกรรมครอบครัวปลอดบุรี่ในช่วงปิดเทอมนำเด็กมาอบรม สอนการนวดกดจุดให้พ่อ มีการถอดบทเรียนใช้คนที่สูบ คนที่กำลังจะสูบ ผู้นำชุมชนมาร่วมกันพูดคุยแก้ปัญหา เราใช้บุคคลต้นแบบแนะนำคนอื่นได้ มีครอบครัวต้นแบบ อย่างกรณีแม่มาฝากครรภ์ เราจะบอกแม่ไปบอกสามีให้ลดละเลิกเพื่อเด็กที่จะเกิดหรือเด็กอ่อนลูกของเขาซึ่งได้ผลดี" อุไรวรรณอธิบายถึงการทำงานในพื้นที่ๆ ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี
ผลจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ ลุงเจริญ เต็มรัตน์ อายุ 72 ปีในวันนี้กลายเป็นแบบอย่างผู้ที่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้อย่างเด็ดขาดไม่หวนกลับไปสูบอีกเลย และยังทำหน้าที่ชักชวนให้คนอื่นๆในชุมชนลดละเลิกบุหรี่เพราะไม่เป็นผลดีต่อตัวเอง
"ลุงเริ่มสูบยาเส้นตั้งแต่อายุ 20 ปี เพราะเห็นคนข้างบ้านสูบ มาเลิกเมื่ออายุ 70 ปี สูบมา 50 ปี ระยะหลังซื้อยาสูบเป็นซอง เคยไปตรวจสุขภาพรู้สึกเหนื่อยมากขึ้น จึงตัดสินใจเลิกบุหรี่ด้วยตัวเองอย่างเด็ดขาด ปกติมีโรคประจำตัวเป็นความดันสูง คุณหมอก็แนะนำให้เลิกสูบ พอเลิกสูบทำให้ร่างกายดีขึ้น รู้สึกว่าแข็งแรงขึ้น คนรอบข้างก็ดีใจรู้สึกภูมิใจที่เลิกบุหรี่ได้" ลุงเจริญ กล่าว
ทางด้าน พ.ต.ท.ณัฐพงศ์ ณ อุบล สารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรชะเมา หนึ่งในภาคีกล่าวว่าปกติสถานีตำรวจดำเนินโครงการโรงพักปลอดบุหรี่ ขับเคลื่อนมาตั้งแต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำหรับพื้นที่ตำบลท่าเรือทางสถานีตำรวจได้ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ไปพร้อมกันด้วย
"มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์บทลงโทษการสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ การสุ่มตรวจร้านค้า และยอมรับว่าชาวบ้าน ญาติผู้ต้องหาที่มาติดต่อราชการในโรงพักอาจไม่ตระหนัก แต่ก็จะให้เจ้าหน้าสิบเวรคอยตักเตือนก่อนโดยจะไม่บังคับใช้กฎหมายทันที ส่วนมาตรการดูแลร้านค้าไม่ให้ทำผิดกฎหมายเมื่อมีเจ้าหน้าที่ออกตรวจสถานการณ์ก็จะเข้าสุ่มตรวจและเน้นย้ำไม่ให้จำหน่ายบุหรี่แก่เด็กหรือแบ่งขายเด็ดขาด" สารวัตรณัฐพงศ์ ระบุ
ภายหลังการการดำเนินโครงการพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่เข้าร่วมโครงการเลิกบุหรี่ได้ 625 คน (ร้อยละ 44.5) ผู้ที่เลิกบุหรี่สำเร็จเกิน 1 เดือนร้อยละ 32.2 เลิกบุหรี่เกิน 3 เดือนร้อยละ 28.4 เลิกบุหรี่เกิน 6 เดือนร้อยละ 19.3 เลิกบุหรี่เกิน 1 ปีร้อยละ 10.9 มีนักสูบหน้าใหม่ที่เข้าร่วมโครงการร้อยละ 29.30 และเลิกสูบสำเร็จร้อยละ 30.67 มีสถานศึกษาต้นแบบปลอดบุหรี่ 1 โรงเรียน โรงพักหรือสถานีตำรวจปลอดบุหรี่ 1 แห่ง ร้านค้าปลีกเข้าร่วมโครงการไม่จำหน่ายบุหรี่แก่เยาวชนหรือแบ่งขายจำนวน 45 ร้าน
ผลดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับสมากชิกทุกคนในชุมชนแห่งนี้จากการที่สมาชิกในครอบครัวหันมาลด ละ เลิกบุหรี่นั้น ทำให้ปัจจุบันแม้ว่าโครงการจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ชุมชนบ้านท่าเรือก็เห็นตรงกันว่าจะร่วมกันดำเนินการอย่างรณรงค์ในเรื่องของบุหรี่อย่างต่อเนื่องตลอดไป