กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
โลกกำลังเผชิญปัญหาวิกฤติจากขยะพลาสติกสังเคราะห์ เช่นเดียวกับประเทศไทยกำลังมีปัญหาขยะท่วมเมือง โดยเฉพาะขยะจากบรรจุภัณฑ์ ถุง ภาชนะของใช้พลาสติกนานาชนิดทำให้ประเทศไทยมีขยะในทะเลมากเป็นอันดับ 6 ของโลก ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ สัตว์ทะเล และห่วงโซ่อาหารของมนุษย์
ครั้งแรกในประเทศไทย ผศ.ดร.เจษฎา ชัยโฉม นักวิจัยไฟแรง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมเครื่องขึ้นรูปจานใบไม้รักษ์โลก ด้วยแรงบันดาลใจและแนวคิดที่ต้องการค้นคว้าหาวัสดุชีวภาพมาทดแทนการใช้จานชามพลาสติกหรือโฟม ซึ่งย่อยสลายได้ยากใช้เวลานานกว่า 300 ปี กระแสทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับการลดขยะพลาสติกที่กำลังคุกคามสิ่งแวดล้อมโลก ดังที่หลายประเทศได้ประกาศยกเลิกการผลิตถุงพลาสติก และอุปกรณ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น มีด ช้อน จาน ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ สหรัฐ แคนาดา จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น อินเดีย เบลเยี่ยม เดนมาร์ก อิตาลี ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย เคนยา เมียนมา อินโดนีเซีย และนานาประเทศ ขณะเดียวกันความต้องการของตลาดภาชนะที่ย่อยสลายได้ง่ายกำลังเติบโตรวดเร็วทั้งในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ โดยรัฐบาลหลายประเทศโดยเฉพาะสหภาพยุโรปต่างก็สนับสนุนให้ภาคเอกชนขยายการผลิตวัสดุชีวภาพ แทนพลาสติกสังเคราะห์
"ทำไมต้องเป็นใบสัก" นักวิจัย เผยว่า เนื่องจากประเทศไทยมีการปลูกต้นสักเป็นจำนวนมาก และเมื่อเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลไทยได้ปลดล็อค พรบ.ป่าไม้ ให้ชาวบ้านและชุมชนสามารถสร้างสวนป่า ปลูกไม้มีค่าเป็นพืชเศรษฐกิจได้ในที่ดินกรรมสิทธิ์ของตัวเอง อีกทั้งตัดต้นไม้ในที่ตัวเองได้โดยไม่ต้องขออนุญาติ ผลิตผลจากต้นสักทั้งลำต้นและกิ่งถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ เฟอร์นิเจอร์ หรืออุตสาหกรรมอื่นๆ มากมาย แต่ต้องรอให้ต้นสักมีอายุราว 20 ปีเพื่อให้ลำต้นได้ขนาดที่ต้องการ ดังนั้นช่วงเวลาก่อนหน้านี้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากใบสักได้ตลอดตั้งแต่อายุต้นสัก 5 ปี จากการสำรวจของผู้วิจัยพบว่า ต้นสักผลิตใบออกมาจำนวนมาก แต่ยังไม่มีงานวิจัยพัฒนาใดที่ใช้ใบสักซึ่งเป็นวัสดุจากธรรมชาติมาขึ้นรูปเป็นภาชนะ ทั้งนี้การขึ้นรูปใบไม้นั้นต้องใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมด้วย งานวิจัยที่นำมาแสดงในครั้งนี้สามารถแสดงการขึ้นรูปใบสักได้โดยอาศัยแรงอัด ความร้อน ส่วนผสมพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้
ผศ.ดร.เจษฎา เปิดเผยว่า สิ่งประดิษฐ์เครื่องขึ้นรูปจากใบไม้นี้ ออกแบบให้ทำงานอัตโนมัติโดยมีวัสดุ Layer 3 ชั้น ชั้นล่างสุดคือ ใบไม้สด ชั้นกลางคือวัสดุพลาสติกชีวภาพที่ทำจากแป้งมันสำปะหลังหรืออ้อยที่จะช่วยให้ภาชนะประเภทชามทรงตัวขึ้นรูปได้เหมาะกับการใช้งาน ส่วนชั้นบนสุดจะเป็นใบไม้สด เครื่องจะผนึกวัสดุทั้ง 3 ชั้น ด้วยความร้อนสูงประมาณ 200 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเป็นการทำให้แห้งและปลอดเชื้อ ถูกสุขอนามัย (ถ้าเป็นจานใบไม้ทรงแบน ก็ไม่ต้องใส่ตัวยึดประสาน)
ประโยชน์ของงานนวัตกรรมนี้ ส่งเสริมการใช้ภาชนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้แพร่หลาย ผู้บริโภคมีทางเลือกในการใช้ภาชนะใบไม้แทนจานชามพลาสติก ส่งเสริมการใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์ เสริมสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนการรีไซเคิลใบไม้มาสร้างมูลค่าเพิ่ม เกษตรกรและผู้ปลูกไม้สักมีรายได้ช่วงระหว่างรอต้นสักโต ส่งเสริมโอกาสการส่งออกจานชีวภาพจากใบสักใบบัวซึ่งมีตลาดกว้างเนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกได้ประกาศเลิกใช้ถุงและภาชนะพลาสติกหลายชนิด และยังสอดคล้องกับสนับสนุนนโยบายรัฐบาลไทยที่ส่งเสริมให้ประชาชนปลูกไม้มีค่าในพื้นที่ตนเองและใช้ประโยชน์ได้
ในการพัฒนาต้นแบบให้เป็นเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ในอนาคตนั้น กำลังผลิตประมาณนาทีละ 3 ใบ มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์จานใบไม้จากใบสักเหล่านี้จะเป็นทางออกที่ตอบโจทย์ผู้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภคหัวใจสีเขียว พร้อมไปกับสร้างงานให้เกษตรกรและสร้างรายได้แก่เอสเอ็มอีทั่วประเทศ รวมทั้งโอกาสในการส่งออก
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.กล่าวว่า นอกจาก "ใบสัก" แล้วยังมีที่น่าสนใจ คือ" ใบบัว" เนื่องจากโตเร็ว ขึ้นรูปง่าย มีกลิ่นเฉพาะ โดยอาจต้องส่งเสริมทำนาบัวเพิ่มมากขึ้นเพื่อป้อนตลาด รวมทั้ง "กาบกล้วย" ก็เป็นอีกวัสดุที่เราควรนำมาต่อยอด เพราะบ้านเรามีวัตถุดิบต้นกล้วยเยอะเนื่องจากมีสวนกล้วยหอมจำนวนมาก เมื่อเก็บผลผลิตกล้วยแล้ว ต้นกล้วยถูกฟันทิ้งไปอย่างสูญเปล่า จะได้นำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกมาก นับว่านวัตกรรมนี้เอื้อต่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ทั้งเป็น Sharing and Caring Economy สนับสนุนการแบ่งปันประโยชน์หลายฝ่ายและรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วย นวัตกรรมเด่นเครื่องขึ้นรูปจานใบไม้รักษ์โลก นี้ จะนำไปแสดงในงาน"วิศวะ'61 หรือ Engineering Expo 2018" วันที่ 11 - 13 ตุลาคม 2561 ณ อาคาร EH103 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ซึ่งจัดโดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ภายใต้ธีม "Business Transformation – ถอดรหัส...ความสำเร็จให้ธุรกิจในยุคดิจิทัล"