กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--ไอแอมพีอาร์
การบริโภคพืชผักสำหรับเด็กเป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนตั้งแต่เล็กๆ เพราะด้วยรสสัมผัส ลักษณะที่ไม่คุ้นเคย เมื่อนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารก็มักจะถูกตักออกหรือปล่อยทิ้งกลายเป็นเศษอาหารอยู่เสมอ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะเกิดผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว โดยทำให้เด็กๆ ไมได้รับสารอาหารที่ช่วยให้ร่างกายสามารถเจริญเติบโตได้อย่างแข็งแรงสมวัย
พฤติกรรมการเลือกบริโภคเช่นนี้พบได้ทั่วไป เช่นเดียวกับใน โรงเรียนนิคมสงเคราะห์ ตำบล จ.ป.ร. อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กระดับชั้นอนุบาลและชั้นประถมศึกษา คณะครูจึงร่วมกันสร้างแรงจูงใจให้รับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของพืชผักมากขึ้น จึงดำเนินโครงการ "การส่งเสริมบริโภคผัก ผลไม้เพื่อสุขภาพในโรงเรียนนิคมสงเคราะห์" โดยการสนับสนุนของ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ครูศิริขวัญ มานะกล้า หนึ่งในคณะทำงานให้ข้อมูลว่าจากการสังเกตการรับประทานอาหารกลางวันของเด็กเล็ก พบว่าเด็กไม่กินผักหรือเลือกกินผักบางชนิด เพราะเด็กไม่คุ้นเคยกับรสสัมผัส รสชาติขมสำหรับเด็ก ประกอบกับผู้ปกครองไม่ได้ฝึกให้รู้จักกินผักตั้งแต่เล็กๆ เมื่อรวบรวมนำเศษอาหารที่เหลือไปชั่งพบว่ามีเศษอาหารรวมทั้งเศษผักต้องทิ้งในแต่ละมื้อมากถึง 50 กิโลกรัม คณะครูจึงร่วมกันแต่งตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย ครู แกนนำนักเรียน และแม่ครัว ปรับปรุงเมนูอาหารให้แต่ละมื้อมีผัก 2 ชนิดและมีผลไม้ตามฤดูกาลให้นักเรียนทุกคนได้รับประทาน โดยมอบหมายให้แกนนำนักเรียนห้องละ 2 คน เป็นผู้ที่คอยให้ความรู้ ให้เพื่อนๆ และน้องๆ นักเรียน ได้รับทราบประโยชน์ของการกินผักและผลไม้ในรูปแบบกิจกรรมหลากหลายในแต่ละสัปดาห์
"ก่อนทำโครงการเศษผักเยอะมาก โรงเรียนพยายามให้เด็กได้กินผักแต่เด็กเขี่ยออก ผู้ปกครองเองก็ไม่ได้เคร่งครัดสนับสนุนให้กิน จึงมาวางแผนกันว่าจะทำอย่างไรให้เด็กๆได้กินผักมากขึ้น เริ่มแรกก็ตั้งคณะทำงานขึ้นมา มีเด็กนักเรียนแกนนำ มีแม่ครัวแบ่งหน้าที่กันไป แกนนำนักเรียนซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนที่ร่วมในภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.น้อย) มีพื้นฐานความรู้อยู่แล้วก็มาทำหน้าที่ให้ความรู้กับเพื่อนักเรียนและน้องๆเด็กเล็ก" ครูศิริขวัญกล่าว
ครูศิริขวัญ เล่าต่อว่ากิจกรรม "ชวนน้องกินผัก" นั้นมีความหลากหลาย ตั้งแต่การให้แกนนำนักเรียนจัดรายการผ่านเสียงตามสายของโรงเรียนให้ความรู้เกี่ยวกับพืชผักผลไม้ การแสดงละครเวทีจากรุ่นพี่ กิจกรรมแข่งขันการทำอาหารจานผัก การวาดภาพระบายสี การประชาสัมพันธ์หน้าเสาธงก่อนการออกกำลังกายทุกวันพุธ การปลูกผักแปลงสาธิตโดยไม่ใช้สารเคมีและนำผักที่ปลูกได้ส่งต่อเข้าโรงครัวของโรงเรียน ซึ่งช่วยลดการซื้อผักจากภายนอกและมั่นใจเรื่องความปลอดภัยได้เป็นจำนวนมาก และยังได้จัดให้มีตลาดนัดในโรงเรียน เปิดโอกาสให้นักเรียนและผู้ปกครองนำสินค้าพืชผักมาจำหน่ายทุกวันอังคารแรกของเดือน ขณะเดียวกันก็ยังบูรณาการใช้พืชผักเป็นสื่อในการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ และสอดแทรกเข้าไปในรายวิชาต่างๆ
"ปกติโรงเรียนของเราซื้อผักจากชุมชน มีชาวบ้านที่อยู่ใกล้โรงเรียนปลูกผักปลอดสารพิษ เราก็ให้นักเรียนไปเรียนรู้การปลูกผักด้วย นำวิธีการมาปลูกในโรงเรียนของเรา เด็กชั้นมัธยมเป็นผู้ลงมือให้เด็กชั้นประถมเป็นผู้ดูแล ในส่วนของแม่ครัวก็จะมีเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขมาอบรมเรื่องการทำความสะอาด การล้างผัก มีการตรวจสารตกค้างในผักโดย อย.น้อย ห้ามใช้ผักดองมาทำอาหาร เกิดความร่วมมือระหว่างครู นักเรียน และผู้ปกครอง มีกิจกรรมทำปุ๋ย การเพาะเห็ดฟาง ทำสารไล่แมลง เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย" ครูศิริขวัญกล่าว
ทางด้าน ประพาส ไชยรักษา ผู้อำนวยการโรงเรียนนิคมสงเคราะห์ กล่าวว่าทางโรงเรียนมีนโยบายให้นักเรียนได้บริโภคอาหารครบทุกหมู่ โดยดำเนินกิจกรรม "เกษตรเพื่ออาหารกลางวัน" ผลิตวัตถุดิบเพื่อนำมาปรุงอาหาร ทั้งการเลี้ยงไก่ไข่ บ่อปลาดุก เพื่อให้ได้อาหารโปรตีน โดยมูลไก่จะนำไปเป็นปุ๋ยสำหรับแปลงผักของโรงเรียน และวางแผนไว้ว่าจะนำมูลไก่บางส่วนไปผลิตเป็นก๊าซชีวภาพจ่ายให้กับโรงครัวของโรงเรียนนำไปใช้ กิจกรรมรณรงค์ให้บริโภคผักผลไม้ ซึ่งทั้งหมดนั้นสอดคล้องและสามารถดำเนินการร่วมกันด้วยดี
"ทางโรงเรียนมีกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ก็บูรณาการกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้เข้าไป ที่นี่ก็จะมีเด็ก 2 กลุ่ม กลุ่มที่ชอบเรียนเราก็ส่งเสริมด้านวิชาการ ส่วนอีกกลุ่มก็จะสอนวิชาชีวิต เช่น การปลูกผัก เป็นกิจกรรมที่ทำให้เด็กมีทักษะชีวิตด้วย แต่ก็จะให้ทุกคนได้ทำกิจกรรมหมุนเวียนกันไป" ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ อธิบาย
ในมุมของนักเรียนแกนนำ มิณฑวดี วรรณะ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เล่าถึงการมีส่วนร่วมในกิจกรรมว่าว่า แกนนำนักเรียนจะเข้ารับการอบรมเรื่องการตรวจสารตกค้าง ประโยชน์ของพืชผักผลไม้ นำความรู้ไปเผยแพร่ต่อ ผ่านการเล่านิทาน การแสดงละคร การประชาสัมพันธ์ในช่วงพักเที่ยงสร้างความเคยชินให้เกิดกับรุ่นน้อง และแกนำจะประชุมกันเดือนละครั้ง จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้ประโยชน์ของการกินผักทุก 2 สัปดาห์ โดยมีคุณครูคอยให้คำปรึกษาและช่วยเหลือ
"ที่โรงเรียนก็จะการประชุม อบรม การแต่งเรียงความ แสดงละครให้น้องอนุบาลได้ดู ทำให้รุ่นพี่ได้ฝึกการแสดงออกไปด้วย โดยส่วนตัวแล้วรู้สึกภูมิใจที่มีส่วนร่วมกับกิจกรรม เพราะนอกจากจะได้ความรู้แล้วยังได้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง ได้นำความรู้ด้านโภชนาการไปบอกต่อคุณพ่อคุณแม่ เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้" แกนนำนักเรียนกล่าว
ผลการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการรับประทานผักและผลไม้ในโรงเรียนอย่างครบวงจร ได้ทำให้เกิดความร่วมมือจากหลายฝ่าย ส่งผลให้บรรยากาศและสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนแห่งนี้มีสภาพที่เอื้อต่อการบริโภคผักและผลไม้ เศษอาหารที่เคยเหลือมากถึงวันละ 50 กิโลกรัม ก็ลดลงเหลือเพียง 20 กิโลกรัม นักเรียนทั้งโรงเรียนกว่า 700 คน บริโภคผักและผลไม้มากขึ้นร้อยละ 89 จากเดิมที่เคยบริโภคเพียงร้อยละ 76 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและปลูกฝังสุขนิสัยในการปรับประทานอาหารที่ถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลให้เด็กนักเรียนทุกคนมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและเจริญเติบโตได้อย่างสมวัย.