กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--ไอแอมพีอาร์
วิถีชีวิตที่ต้องแข่งขันกับเวลาของผู้คนในสังคมไทยปัจจุบัน ทำให้พืชผักสวนครัวที่เคยมีอยู่และหาเก็บกินได้ตามรั้วบ้านค่อยๆ หายไป พร้อมกับการเข้ามาของรถเร่ขายกับข้าวที่เน้นสะดวกสบายเข้ามาขายถึงหน้าบ้าน อยากได้อะไร อยากกินอะไรก็ซื้อหากันได้ง่ายๆ ทุกวัน โดยไม่ต้องมานั่งเสียเวลาปลูกและดูแล แต่หารู้ไม่ว่ารายจ่ายสำหรับพืชผักสวนครัวที่ต้องซื้อในแต่ละวันนั้น เมื่อคิดออกมาแล้วเป็นเงินจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว
ชาวบ้านบ้านห้วยตาอ่อน ตำบลสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนยางและทำประมง ไม่นิยมปลูกผักสวนครัวไว้บริโภคเอง ส่วนใหญ่พึ่งพาการซื้อหาจากตลาดเพราะเห็นว่าสะดวกกว่าไม่ต้องดูแลรดน้ำใส่ปุ๋ย โดยมีอยู่ไม่กี่หลังคาเรือนที่ปลูกพืชผักสวนครัว หนึ่งในนั้นคือบ้านของผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 9
สะอาด ทาระการ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 ตำบลสะพลี เล่าให้ฟังว่าปกติก็ปลูกผักไว้กินเองอยู่แล้วและเห็นว่าไม่ใช่เรื่องยาก จึงชักชวนลูกบ้านให้ใช้เนื้อที่ว่างในบ้านลองปลูกผักโดยนำเมล็ดพันธุ์มาแจกจ่ายให้ผู้สนใจ มาตั้งแต่ปี 2557 พร้อมให้คำแนะนำให้แต่ละบ้านปลูกผัก 3 ชนิดที่ชอบบริโภคหรือใช้ประกอบอาหารเป็นประจำ นอกจากนี้ยังได้สร้างแรงจูงใจในการปลูกผักในครัวเรือน ด้วยการจัดประกวดแปลงผักของแต่ละบ้านโดยให้นายอำเภอมาเป็นผู้มอบรางวัล โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมในระยะเริ่มแรก 30 ครัวเรือน จนขยายเพิ่มขึ้นเป็น 80 ครัวเรือนในปัจจุบัน
ต่อมาเมื่อเห็นว่าการปลูกผักได้รับความสนใจมากขึ้น สะอาด การะทา จึงนำกิจกรรมเข้า โครงการการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและบริโภคผักผลอดภัยในครัวเรือน ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักสร้างสรรค์และนวัตกรรมสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้าง เสริมสุขภาพ (สสส.) และสร้างความต่อเนื่องด้วยโครงการ "บ้านสวยด้วยผัก" เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งยั่งยืนด้วยความร่วมมือภายในชุมชน
"ปกติมีการประชุมลูกบ้านทุกเดือน บ้านผมเองก็ปลูกผักกินเองอยู่แล้ว ก็เลยแนะนำลูกบ้านให้ปลูกผักไว้กินเอง เลือกผักที่อยากกินบ้านละ 3 อย่างก็พอ ใครไม่มีเมล็ดพันธุ์ผมก็จะจัดหามาให้ แล้วก็จัดประกวดกันเกิดการแข่งขัน เชิญนายอำเภอมามอบรางวัล ชาวบ้านก็ภูมิใจเพราะผู้ใหญ่เห็นความสำคัญ ก็เลยทำโครงการต่อเนื่อง สมาชิกก็มากขึ้น ก็มีการรวมตัวกันทำปุ๋ยหมัก ทำน้ำยาไล่แมลง เชิญปราชญ์ชาวบ้าน วิทยากรที่มีความรู้มาอบรม หลายหน่วยงานตั้งแต่ระดับอำเภอ อบต.เทศบาล ให้การสนับสนุน ชาวบ้านเกิดความตื่นตัว ที่จะไปซื้อผักในตลาดก็มีน้อยลง มีแต่จะเอาไปขาย เอาเงินไปซื้อของอย่างอื่นกลับมา" ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กล่าว
แม้การดำเนินงานในระยะเริ่มแรกต้องสร้างแรงจูงใจด้วยรางวัล แต่ในระยะต่อมาชาวบ้านตระหนักรู้ด้วยตนเองว่าการปลูกผักไว้กินเองแบบปลอดสารพิษเป็นผลดีต่อทุกคนในครอบครัว ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันและกัน ไม่จำเป็นต้องมีรางวัลเป็นแรงจูงใจอีกต่อไป
เช่นเดียวกับ ศิรินทรา อินทรานุศร ซึ่งย้ายมาจากตัวเมืองชุมพรมาอยู่ที่ชุมชนแห่งนี้ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว เล่าให้ฟังว่า เริ่มหันมาปลูกผักที่ใช้ในครัวเรือนได้ไม่นานนัก โดยใช้เนื้อที่เล็กๆ ข้างบ้านปลูกผักที่ต้องใช้ประจำ เช่น พริก ข่า ตะไคร้ กะเพรา รวมทั้งดอกไม้เพื่อไว้ใช้บูชาพระ และใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ไม่เคยใช้สารเคมียาฆ่าแมลง ถ้ามีแมลงมากก็จะใช้น้ำยาล้างจานผสมน้ำฉีดไล่แมลงซึ่งได้ผลดี
"เนื้อที่บ้านมีไม่มาก แต่ก็เจียดเนื้อที่ที่พอมีอยู่ปลูกผักไว้กินเอง ไม่ต้องซื้อ เหลือก็เอาไปขายบ้าง อย่างกะเพราก็จะตัดขายทุก 2 สัปดาห์ ก็ได้ 30-80 กำขายกำละ 4 บาท ช่วยให้มีรายได้ไว้สำหรับไปซื้อของจำเป็นอย่างอื่น" ศิรินทรากล่าว
ทางด้าน พยอม โลพิส แม่ค้าขายข้าวแกง ใช้เนื้อที่ไร่เศษๆ รอบบ้านปลูกชะอม มะเขือ แตงกวา และถั่วฝักยาว ผลผลิตที่ได้ส่วนหนึ่งนำมาประกอบอาหารเป็นกับข้าวไว้ขาย จึงทำให้ต้นทุนในการทำกับข้าวขายต่ำกว่าแม่ค้ารายอื่น ขณะเดียวกันก็มีผักที่ผลิตได้จำนวนมาก สามารถส่งขายสร้างรายได้จุนเจือครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง ส่วนการเพาะปลูกนั้นใช้เพียงปุ๋ยคอกจากมูลสัตว์ และปุ๋ยหมักที่ทำขึ้นเอง ไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลงทำให้ลูกค้าผู้บริโภคมั่นใจ พืชผักที่มาจากสวนของเธอ
"เดือนหนึ่งถ้าปลูกส่งขายต่อเนื่องเฉพาะผักที่เล็กๆข้างบ้านนี้ทำให้เรามีรายได้ราว 3,000 บาท บางส่วนเอามาทำกับข้าวขายบ้าง ก็ส่งลูกๆให้เรียนจบได้" พยอม ยืนยันว่าการปลูกผักขายและนำมาเป็นวัตถุดิบผลิตอาหารช่วยจุนเจือรายได้ในครอบครัวได้จริง
ขณะที่ สมพร จันทร์อุดม ซึ่งเกษียณอายุราชการในกรุงเทพฯ และได้กลับมาอยู่ที่บ้านเกิดดั้งเดิมของตนเอง ปัจจุบันเป็นเจ้าของสวนปาล์ม เล่าให้ฟังว่าเริ่มปลูกผักตั้งแต่กลับมาปลูกบ้านอยู่ที่นี่ โดยปลูกมะกรูด มะนาว พริก ผักหวาน ตะไคร้ รวมทั้งชะอมที่ปลูกเป็นรั้วไปด้วย และยังเลี้ยงไก่ไข่สำหรับไว้บริโภคในครอบครัว
"เมื่อเปรียบเทียบกับการอยู่ในเมืองหลวงซึ่งต้องซื้อทุกอย่าง แต่สำหรับที่นี่จะปลูกพืชผักที่อยากกินช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือนได้ ผักบางชนิดถ้ามีมากก็จะแบ่งให้คนชุมชน ส่วนชุมชนส่วนใหญ่ทำอาชีพประมงก็มักจะมีปลามาแบ่งปันแลกเปลี่ยนให้กับคนปลูกผักอยู่เสมอๆ" ลุงสมพรกล่าว
ปัจจุบันชาวบ้านบ้านห้วยตาอ่อนมีสมาชิกกลุ่มผลิตผักปลอดภัยไว้บริโภคในครัวเรือนเพิ่มขึ้นเกินกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด และมักจะรวมกลุ่มนัดหมายกันไปทำปุ๋ยหมักเพื่อแบ่งปันนำไปใช้ปลูกผักอยู่เสมอๆ ผลดีที่คาดไม่ถึงจากการที่ทุกบ้านได้จัดทำบัญชีครัวเรือนก็คือ พบว่าบ้านที่ปลูกผักไว้รับประทานเองนั้นมีรายจ่ายที่ลดลงเป็นจำนวนมาก บางครอบครัวที่มีพื้นที่มากก็จะมีรายได้เสริมจากการขายผักด้วย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการที่สมาชิกในชุมชนแห่งนี้มีสุขภาพดีเพราะบริโภคผักที่ปลอดภัยที่พวกเขาร่วมกันปลูกขึ้นเอง.