กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--ไอแอมพีอาร์
บ้านรำแดง หมู่ที่ 6 ตำบลรำแดง อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา มีผู้สูงอายุ 67 คน ส่วนใหญ่บุตรหลานเข้าไปทำงานตามโรงงานในตัวเมือง ปล่อยผู้สูงวัยให้อยู่กับบ้านในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุเป็นผู้ป่วยติดเตียง 3 คน อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุติดบ้านช่วยเหลือตัวเองได้ 4 คน นอกนั้นเป็นผู้สูงอายุที่ออกไปหนมาไหนได้ และส่วนใหญ่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพทั้งโรคความดัน เบาหวานและอื่นๆ บางส่วนที่ยังแข็งแรงสามารถทำงานเล็กๆน้อยๆได้
จากเดิมนักศึกษาวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จังหวัดสงขลา มีโครงการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลรำแดงซึ่งอยู่ใกล้กับหมู่ที่ 6 ชมรมผู้สูงอายุบ้านรำแดง เห็นว่าหากร่วมกันดำเนินการอย่างเป็นระบบจะทำให้เกิดความเข้มแข็งเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุทั้ง 2 ชุมชน จึงร่วมกันดำเนินโครงการ "การสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 6 ชุมชนรำแดง" โดยการสนับสนุนของ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
นายเชิดพงศ์ บุญที่สุด นักพัฒนาชุมชนประจำองค์การบริหารส่วนตำบลรำแดง เปิดเผยว่า ผู้สูงอายุหลายรายยังประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ผู้สูงอายุบางคนมีความสามารถเชิงช่าง งานหัตถกรรม ยังทำงานได้และคิดว่าการทำงานเป็นการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างมาก โดยจากการทำประชาคมใน 2 ชุมชน พบว่าผู้สูงอายุต้องการพื้นที่สำหรับออกกำลังกายเป็นอันดับแรก จึงได้ร่วมกับวิทยาลัยพยาบาลพระบรมราชชนนี นำเอาท่าทางของ 12 นักษัตรประจำปีเกิด มาประยุกต์เป็นท่าออกกำลังกายมีท่วงท่าที่เหมาะสมกับการเคลื่อนไหวร่างกายของผู้สูงอายุ ประกอบกับเพลง "ฉันรักรำแดง" ซึ่งเป็นเพลงของท้องถิ่นที่แต่งขึ้น โดยนัดหมายออกกำลังกายกันในช่วงเย็นทุกวัน จันทร์ พุธ และศุกร์ เป็นเวลา 1 ชั่วโมง
"ผู้สูงอายุคิดว่าการทำงานก็คือการออกกำลังกาย แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะร่างการไม่ได้เคลื่อนไหวทุกส่วนและไม่ได้มีความต่อเนื่องเลยทำความเข้าใจเสียใหม่ และผู้สูงอายุเองควรได้ออกกำลังกาย เพราะจะช่วยให้การเคลื่อนไหวร่างกายดีกว่า มีความแข็งแรง ผู้สูงอายุเองก็ต้องการออกกำลังกายอยู่แล้ว จึงปรึกษากับทางวิทยาลัยพยาบาล หาท่าทางที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุซึ่งได้รับความสนใจมาก" เชิดพงศ์ กล่าว
ทางด้าน แผ้ว จุฬามณี อายุ 79 ปี ประธานชมรมผู้สูงอายุบ้านรำแดง ซึ่งมีความสามารถด้านช่างไม้ปัจจุบันยังทำงานช่าง มีความสุขกับการใช้ชีวิตในบั้นปลายทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวม เห็นความสำคัญของการออกกำลังกายของผู้สูงอายุ ซึ่งจะทำให้ผู้ออกกำลังกายมีสุขภาพแข็งแรง
"การที่ผู้สูงอายุมีชมรม มีการรวมกลุ่มกันออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ดี เพราะนอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้วยังทำให้เกิดความสามัคคี สร้างความกลมเกลียว ได้มาพบปะพูดคุยกันไม่ได้อยู่บ้านเงียบเหงาอยู่คนเดียว เราจัดที่ให้ออกกำลังกายไว้ 3 จุด ใครสะดวกตรงไหน ใกล้ตรงไหนก็ไปออกกำลังกายตรงนั้น โดยส่วนตัวชอบออกกำลังกายอยู่แล้ว เดินทุกเช้า ปั่นจักรยานบ้างสลับกัน" ประธานชมรม ผู้สูงอายุบ้านรำแดงกล่าว
จากการดำเนินกิจกรรมทำให้ผู้สูงอายุในชุมชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจมาร่วมออกกำลังกายมากขึ้น และมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของชมรมที่จัดขึ้น ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน หน่วยงานด้านสาธารณสุข ก็เห็นความสำคัญและได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง คณะทำงานจึงได้เตรียมวางแผนที่จะจัดตั้งเป็นโรงเรียนผู้สูงอายุ สร้างหลักสูตรเพื่อให้ผู้สูงอายุได้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและมีสุขภาพดีสมวัยในโอกาสต่อไป.