กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--เอ พับลิซิสท์
สถาบันโรคภูมิแพ้สมิติเวช ชี้คนไทยเสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้อาหารสูงขึ้นถึง 300 – 400 เปอร์เซ็น สาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนไทย ปัจจัยการเกิดโรคมาจากความเป็นอยู่ที่ดีและรักสะอาดมากขึ้นส่งผลให้ภูมิคุ้มกันที่เคยต่อสู้กับเชื้อโรคหันไปต่อสู้กับสารอาหารเหล่านั้นแทน ชี้อาการแพ้กระทบ 5 ระบบในร่างกาย แนะรีบพบแพทย์เฉพาะทาง หากเพิกเฉยส่งผลอันตรายถึงชีวิต ล่าสุดเชิญ "ดร.ฮิวจ์ เอ แซมพ์สัน" (Dr. Hugh A Sampson) ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้ระดับโลก มาให้ความรู้ที่ถูกต้องพร้อมวิธีการรับมือกับโรคภูมิแพ้อาหาร
ศ.เกียรติคุณ นพ.ปกิต วิชยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้สมิติเวช โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี กล่าวว่า "ปัจจุบันคนไทยเสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้อาหาร(Food Allergy) สูงขึ้น 300-400 เปอร์เซ็น จากอดีตที่มีผู้ป่วยเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 1 คน แต่ในปัจจุบันพบผู้ป่วยแพ้อาหารสูงถึงสัปดาห์ละ 2 คน ปัจจัยการเกิดโรคมาจากวิถีการใช้ชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทยจะสังเกตได้ว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้อาหารส่วนใหญ่จะมีฐานะอยู่ในระดับกลางถึงดี เวลาทานอาหารก็เลือกทานในร้านที่มีความสะอาดอยู่ตลอด หรือทานอาหารจากร้านสะดวกซื้อที่มีกรรมวิธีการผลิตที่สะอาด ทำให้ร่างกายได้รับเชื้อโรคน้อยลงส่งผลให้ภูมิคุ้มกันที่เคยต่อสู้กับเชื้อโรคหันไปต่อสู้กับสารอาหารเหล่านั้นแทนจนเกิดเป็นอาการแพ้เกิดขึ้น
"โรคแพ้อาหารพบได้บ่อยมากในประเทศไทยตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ โดยปกติอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้มีได้ 6 ชนิดใหญ่ ได้แก่ นม ไข่ แป้งสาลี ถั่วทั้งหลาย อาทิ ถั่วลิสง ถั่วเหลือง อัลมอนด์ มะม่วง หิมพานต์ และสุดท้ายอาหารทะเลซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิดคือกุ้งและปลา ในประเทศไทยนั้นอาหารทะเลเป็นอาหารที่ทำให้เกิดการแพ้มากที่สุดส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้ใหญ่ แต่อาหารที่จะทำให้เกิดการแพ้ในเด็กและแพ้รุนแรงนั้นพบว่าเป็นแป้งสาลี เรามักจะได้ยินว่าการแพ้อาหารบางชนิดจะอันตรายถึงชีวิต ซึ่งก็เป็นจริงเพราะในสหรัฐอเมริกา ยุโรปและออสเตรเลียการแพ้ถั่วลิสงเป็นเรื่องใหญ่มากเรามักจะได้ยินว่ามีการเสียชีวิตจากการแพ้ถั่วลิสงบ่อยๆ เพราะไม่รู้ว่ามีถั่วเป็นส่วนผสมในอาหารนั้น สำหรับประเทศไทยแล้วการแพ้ถั่วลิสงยังไม่มากนัก แต่ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ" นพ. ปกิต กล่าว
สาเหตุส่วนใหญ่ของการแพ้อาหารมาจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย อาการของโรคนี้จะแสดงความผิดปกติของร่างกายขึ้นมาหลังจากทานอาหารบางอย่างที่ร่างกายแพ้เข้าไป เช่น เด็กที่แพ้แป้งสาลี เนื่องจากภูมิคุ้มกันในลำไส้ของเด็กยังไม่แข็งแรง ระบบทางเดินอาหารยังมีกลไกการป้องกันหรือทำลายสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ได้ไม่สมบูรณ์ น้ำย่อยและเอนไซม์ต่างๆ ยังไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ ทำให้โปรตีนในอาหารที่รับประทานเข้าไปนั้น ยังคงเหลือส่วนที่กระตุ้นภูมิคุ้มกัน นำไปสู่การตอบสนองทำให้เกิดปฏิกิริยาแพ้อาหาร หรือ ผู้ใหญ่ที่พบว่าแพ้อาหารทะเลมากที่สุดนั้นเนื่องจากการได้รับสารก่อภูมิแพ้ตั้งแต่เด็ก จนค่อยๆ ก่อให้เกิดอาการ เมื่อเวลาผ่านไปทำให้บางคนอาจเพิ่งพบว่ามีอาการแพ้ในภายหลังจาก ที่เมื่อก่อนเคยทานได้ตามปกติ
โดยอาการแพ้ที่เกิดขึ้นกับร่างกายนั้นแบ่งออกเป็น 5 ระบบ ได้แก่ ระบบผิวหนัง มีอาการเป็นลมพิษเฉียบพลันหรือเรื้อรัง ผิวหนังอักเสบบวมรอบๆ ปากและตา ระบบหายใจ มีอาการจมูกอักเสบ หลอดลมอักเสบบวมบริเวณกล่องเสียงและหลอดลม เป็นหืด ระบบทางเดินอาหาร มีอาการคันปาก คันคอ คันลิ้น ปวดท้อง อาเจียน และลำไส้อักเสบเวลาถ่ายอาจมีเลือดปะปนออกมาด้วย ระบบประสาท มีอาการทำให้ผู้ป่วยมึนงง ระบบหัวใจ มีอาการความดันโลหิตต่ำ และอาจถึงขั้นเกิดอาการช็อกได้
"สิ่งที่สำคัญนอกเหนือจากอาการภูมิแพ้แล้ว คือ คนไทยบางส่วนยังไม่เข้าใจและตระหนักถึงความอันตรายของโรคภูมิแพ้อาหาร ส่วนใหญ่มักคิดว่าโรคนี้ไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงหากมีอาการแพ้ก็เป็นเพียงแค่ผื่นคันหรืออาการอื่นๆ ที่ไม่ส่งผลถึงชีวิต แต่ในความเป็นจริงแล้วหากผู้ป่วยมีอาการแพ้มากกว่าสองระบบ หรือที่เรียกว่า การแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการแพ้รุนแรงควรเข้ารับการรักษาและวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเร่งด่วน" นพ.ปกติ กล่าว
สำหรับแนวทางการรักษาอาการของโรคภูมิอาหารที่ถูกวิธี คือ ควรเริ่มจากการตรวจหาภูมิแพ้อาหารนั้นว่าเกิดจากสาเหตุอะไร โดยสถาบันโรคภูมิแพ้สมิติเวช โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี ได้พัฒนานวัตกรรมการตรวจเช็คที่แม่นยำ 2 วิธี คือ "การใช้สารสกัดจากอาหาร" ที่ผู้ป่วยมีอาการแพ้มาสัมผัสร่างกายและ "การเจาะเลือด" ซึ่งการเจาะเลือดจะให้ผลที่แน่นอนกว่าและสามารถวัดระดับภูมิแพ้ได้อีกด้วย
เมื่อทราบถึงสาเหตุของอาการแพ้ที่ชัดเจนแล้ว ลำดับต่อมาคือขั้นตอนการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยหายจากอาการภูมิแพ้ที่เป็นอยู่ โดยมีแนวทางในการรักษา แบ่งออกเป็น การสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย (Oral immunotherapy) ด้วยการให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่แพ้ทีละน้อยเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทาน ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีการรักษาที่ต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และ "การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม" ผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารให้ระมัดระวังการเลือกทานอาหารมากขึ้น หลีกเลี่ยงและตรวจสอบส่วนผสมอย่างละเอียดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร นอกจากนี้ ผู้ประกอบการด้านอาหาร ควรให้ความสำคัญกับส่วนผสมต่างๆ ที่ใช้ในการปรุงอาหาร และควรแสดงป้ายบอกรายละเอียดของอาหารอย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถหลีกเลี่ยงอาหารที่ตนแพ้ได้ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เกิดอาการแพ้สาเหตุหลักเป็นเพราะไม่ทราบว่าอาหารที่ตัวเองรับประทานเข้าไปนั้นมีส่วนผสมของอาหารที่ตนมีอาการแพ้ปะปนอยู่ด้วย
ในการนี้ สถาบันโรคภูมิแพ้สมิติเวช โรงพยาบาลสมิติเวช ธนบุรี ยังได้เชิญองค์กรด้านภูมิแพ้ ชั้นนำระดับโลกและคณะแพทย์ชื่อดัง มาร่วมวิเคราะห์พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมองด้านการรักษาโรคภูมิแพ้อยู่ตลอดเวลา เพื่อพัฒนาการรักษาภายในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น โดยล่าสุดได้เชิญ ดร.ฮิวจ์ เอ แซมพ์สัน (Dr. Hugh A Sampson) ประธานบริหาร Icahn Medical School at Mount Sinai Hospital ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้ระดับโลกมาร่วมประชุมวิชาการ 1St International Samitivej Allergy Institute Symposium, Food Allergy "The State of the Art" เพื่อเจาะลึกวิกฤตการณ์แนวโน้มความรุนแรงเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้อาหาร ความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อชีวิตของผู้ป่วยและความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับโรคภูมิแพ้อาหาร พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้อาหารของสถาบันโรคภูมิแพ้สมิติเวช โรงพยาบาลสมิติเวชธนบุรีรวมทั้งโรงพยาบาลในเครือสมิติเวชอีกด้วย