กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย
สี่หอการค้าของกลุ่มประเทศนอร์ดิคร่วมลงนามใน MOU พร้อมสนับสนุนสมาชิกให้เข้าร่วมโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) ในงานสัมมนาประจำปี National Conference on Collective Action against Corruption ครั้งที่ 9 ในหัวข้อ "Disrupting Corruption" ซึ่งจัดโดย CAC ที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ
หอการค้าสี่แห่งที่ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจประกอบด้วย หอการค้าเดนมาร์ค-ไทย, หอการค้าไทย-ฟินแลนด์, หอการค้าไทย-นอรเวย์ และ หอการค้าไทย-สวีเดน
"หอการค้าของกลุ่มประเทศนอร์ดิคสามารถที่จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์จากประเทศของพวกเรา และพร้อมให้การสนับสนุน แต่มีแค่คนไทยเท่านั้นที่จะสามารถทำให้การต่อต้านคอร์รัปชันกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยได้ เพราะฉะนั้น จึงนับเป็นเรื่องสำคัญที่องค์กรอย่าง CAC ซึ่งเป็นองค์กรของไทย และดำเนินการโดยคนไทยพยายามจะทำสิ่งดีๆ ให้กับประเทศนี้" นาง Aina Eidsvik President ของ หอการค้าไทย-นอรเวย์ กล่าว
การที่กลุ่มหอการค้าของทั้งสี่ประเทศมาร่วมลงนามสนับสนุนโครงการ CAC ในครั้งนี้ เป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนว่าธุรกิจของชาวต่างชาติที่เข้ามาดำเนินการในประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องของการทำธุรกิจอย่างโปร่งใส และปราศจากการทุจริต
"หอการค้าเดนมาร์ค-ไทยพร้อมสนับสนุนโครงการ CAC อย่างเต็มที่ เพื่อพลิกสถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศไทย โดยเราเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ในกลไกของตลาดเสรี และการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ถึงแม้ว่ามันอาจจะต้องใช้เวลานับเป็นชั่วอายุคนในการที่จะเปลี่ยน mindset ของสังคม แต่ของทุกอย่างมันก็ต้องมีจุดเริ่มต้นตรงไหนสักแห่ง" ดร. ศุภฤกษ์ ชมชาญ President หอการค้าเดนมาร์ค-ไทย
CAC เป็นโครงการที่บริษัทเอกชนเข้าร่วมตามความสมัครใจ และในปัจจุบัน มีจำนวนบริษัทเอกชนที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริต ไม่รับ-ไม่จ่าย สินบนในการทำธุรกิจตามโครงการ CAC แล้วทั้งสิ้น 921 บริษัท ซึ่งในจำนวนนี้มีบริษัทที่ผ่านการรับรองว่ามีนโยบายและมีแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตภายในองค์กรครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนดแล้ว 332 บริษัท โดย CAC กำหนดให้บริษัทที่ยื่นประกาศเจตนารมณ์ต้องดำเนินการให้ผ่านการรับรองภายใน 18 เดือน
การรับรองโดยโครงการ CAC เป็นการรับรองว่าบริษัทมีนโยบาย และระบบป้องกันคอร์รัปชันและการให้สินบนเท่านั้น ไม่ได้รับรองพฤติกรรมของตัวบุคคลในบริษัท
CAC ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการนำนโยบายและมาตรฐานการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการคอร์รัปชันในระดับบริษัทธุรกิจไปปฏิบัติ บทบาทของ CAC จะเน้นในส่วนของบริษัทเอกชน ด้วยการพยายามให้มีการนำนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันไปปฏิบัติให้เกิดผลจริง โดย CAC ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) (ACT) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) Background
โครงการ CAC จัดตั้งขึ้นมาโดยองค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศซึ่งได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) หอการค้าไทย หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โครงการ CAC ได้รับการสนับสนุนการดำเนินการจาก Center for International Private Enterprise หรือ CIPE แห่งสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก โดยมี IOD ทำหน้าที่เป็นเลขานุการและรับบทนำในการสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ