SET Sustainability Reporting Guidelines รายงานอย่างสมาร์ท สร้างโอกาสกิจการให้ยั่งยืน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 11, 2018 15:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดย ศุภกร เอกชัยไพบูลย์ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนมีความสำคัญอย่างมากต่อการตัดสินใจลงทุน ในอดีตผู้ลงทุนอาจพิจารณาข้อมูลตัวเลขผลประกอบการและบทวิเคราะห์ทางการเงินเท่านั้น แต่ในปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อมูลข่าวสารด้านความโปร่งใส การมีจริยธรรม การทุจริตคอรัปชั่น รวมถึงข่าวสารด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม มีผลกระทบต่อพฤติกรรมและทัศนคติของผู้มีส่วนได้เสียสำคัญขององค์กร อย่างลูกค้า คู่ค้า และผู้ลงทุน ดังนั้น องค์กรใดที่สามารถรายงานข้อมูลผลการดำเนินงานทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ได้ครอบคลุมและครบถ้วน ย่อมเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ลงทุนสามารถตัดสินใจลงทุนและคู่ค้าสนใจเข้ามามีส่วนร่วมกับธุรกิจได้ง่ายขึ้น แต่เดี๋ยวก่อน... ข้อมูลผลการดำเนินงานด้าน ESG ที่กล่าวถึงไม่ใช่การนำเสนอข้อมูลเพื่อโฆษณาชวนเชื่อหรือประชาสัมพันธ์องค์กรให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีเท่านั้น แต่คือการนำเสนอข้อมูลที่เป็น"ข้อเท็จจริง" ที่เป็นผลการดำเนินงานทางการเงินและผลการดำเนินงานในประเด็นสำคัญอื่นๆ เช่น การกำกับดูแลกิจการ การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน การจัดการทรัพยากร และการพัฒนานวัตกรรม เป็นต้น โดยข้อมูลดังกล่าวควรสะท้อนให้ผู้อ่านเห็นทั้งด้านความเสี่ยงและโอกาสในการสร้างมูลค่าทางธุรกิจขององค์กรที่ครอบคลุมทั้งเรื่องการเงิน สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรจะยืนยงคงกระพันท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสามารถดูแลผู้มีส่วนได้เสียได้อย่างยั่งยืน ด้วยเหตุนี้เองรายงานฉบับนี้จึงนิยมเรียกว่า "รายงานความยั่งยืน" (หรือชื่ออื่นๆ ตามที่องค์กรเห็นว่าเหมาะสม เช่น รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน รายงานความรับผิดชอบต่อสังคม) งานวิจัยเรื่อง The Importance of Nonfinancial Performance to Investors1 ระบุชัดเจนว่า ผู้ลงทุนทั่วโลกต่างตระหนักว่า ปัจจัย ESG มีผลต่อความอยู่รอดและความมั่นคงทางการเงิน ซึ่งองค์กรที่สามารถจัดการความเสี่ยงและแสวงหาโอกาสในการสร้างมูลค่าทางธุรกิจจากประเด็นดังกล่าวได้มากเท่าใด ก็ยิ่งดึงดูดความน่าสนใจจากผู้ลงทุนได้มากขึ้นเท่านั้น โดยผู้ลงทุนจะพิจารณาข้อมูลเหล่านี้จากรายงานความยั่งยืน นอกจากนี้รายงานเรื่อง Is your nonfinancial performance revealing the true value of your business to investors?2 ได้กล่าวไว้ว่าผู้ลงทุนยังคงให้ความสำคัญกับข้อมูลทางการเงิน อย่างไรก็ดี ข้อมูลทางการเงินเพียงอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุน สอดคล้องกับผลสำรวจของ MSCI3 ที่ระบุว่า ผู้ลงทุนสถาบันระดับโลก เช่น BlackRock และ Vanguard ต้องการให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนกันมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันมาตรฐานการรายงานความยั่งยืนสากลที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในขณะนี้ คือ Global Reporting Initiative หรือ GRI ซึ่งเป็นหน่วยงานที่พัฒนาหลักการ กรอบการรายงาน และตัวชี้วัดการรายงานความยั่งยืนที่ตรงตามความต้องการของผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียหลากหลายกลุ่ม อย่างไรก็ตาม การทำความเข้าใจกับ GRI Standards ซึ่งเป็นมาตรฐานการรายงานล่าสุดของ GRI ยังอาจเป็นอุปสรรคสำหรับบริษัทจดทะเบียนไทยทั้งขนาดกลางและเล็ก เนื่องจากมีตัวชี้วัดมากมายที่อาจทำให้เกิดความสับสนได้ จากที่กล่าวมาข้างต้น บริษัทจดทะเบียนอาจมีคำถามว่า จะเริ่มต้นเขียนรายงานความยั่งยืนอย่างไรให้มีคุณภาพเพื่อเป็นประโยขน์ต่อผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ดังนั้น ในปีนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจึงได้ปรับปรุงและอัพเดทคู่มือการรายงานความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน (SET Sustainability Reporting Guidelines)เพื่อส่งเสริมการรายงานความยั่งยืน สำหรับบริษัทจดทะเบียนมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นรายงานและต้องการยกระดับคุณภาพการรายงานความยั่งยืนให้มีเนื้อหากระชับ ครบถ้วนและสอดคล้องกับมาตรฐานด้านความยั่งยืนสากล ภายใต้หลักการ 4 ข้อ "สำคัญ ทันสมัย ใส่ใจคุณค่า พัฒนาต่อเนื่อง" นอกจากนี้ คู่มือฉบับนี้ยังมีจุดเด่นที่จะเป็นประโยชน์กับบริษัทจดทะเบียนในหลายด้าน เช่น - หลักการและกรอบการรายงานเข้าใจง่ายและไม่ซับซ้อน - การนำเสนอข้อมูลเน้นความกระชับแต่ครบถ้วน - ตัวชี้วัดสอดคล้องกับความสนใจของผู้ลงทุนและมาตรฐานการดำเนินงานด้านความยั่งยืนทั้งในและต่างประเทศ เช่น CG Code GRI SDGs เป็นต้น - ตัวชี้วัดพิจารณาจากประเด็นพื้นฐานที่ธุรกิจควรดำเนินการหรือดำเนินการอยู่แล้ว - มีแบบฟอร์มรายงานตัวชี้วัดเพื่อแสดงผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่ชัดเจนและนำไปเปิดเผยในรายงานได้สะดวก คู่มือการรายงานความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน ไม่เพียงช่วยให้บริษัทสามารถเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนอย่างมีคุณภาพและตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้เสียเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้บริษัทรับทราบและติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เพื่อนำมาพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแผนที่จะเผยแพร่คู่มือดังกล่าวในปี 2562 โดยท่านสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ SD Focus และเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ฯ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ