กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--ไอแอมพีอาร์
การจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนขยายโอกาสที่นักเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษาและมีฐานะยากจนนั้น จะต้องคำนึงถึงบริบททางภูมิศาสตร์และสังคม สนองความต้องการของผู้เรียนในด้านการดำเนินชีวิตมากกว่าการจัดการศึกษาเพื่อมุ่งเน้นการเรียนต่อในระดับสูงขึ้น
โรงเรียนเทศบาลบ้านเขานิเวศน์ แม้จะตั้งอยู่ใจกลางอำเภอเมือง จังหวัดระนอง แต่ก็รับภาระในการจัดการศึกษาให้แก่เด็กด้อยโอกาสเนื่องจากระนองเป็นเมืองสำคัญชายแดนมีความหลากหลายทางอาชีพของประชากร ทั้งเกษตรกรรม ประมง และโรงงานแปรรูปอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ ทำให้มีแรงงานหลากหลายทั้งประชากรในพื้นที่และประชากรแฝงที่หลั่งไหลเข้ามาหางานทำรวมทั้งแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย
เด็กนักเรียนโรงเรียนเทศบาลเขานิเวศน์ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน เป็นเด็กด้อยโอกาส เกือบทั้งหมดอยู่ในครอบครัวที่ขาดบิดามารดา หรือต้องอยู่กับญาติสูงอายุ เพราะทั้งพ่อและแม่แยกย้ายไปทำงานต่างถิ่นหรือมีปัญหาครอบครัว ทางโรงเรียนจึงมุ่งเน้นการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนานักเรียนสู่การมีอาชีพมากกว่าที่จะมุ่งเน้นให้เรียนต่อในระดับสูงๆ ต่อไป
"เราจัดการศึกษาให้เด็กมีความรู้ตามหลักสูตร แต่เน้นว่าเด็กต้องมีพื้นฐานอาชีพติดตัว มีทักษะชีวิต รู้จักการสร้างรายได้ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน" ปราณี โสภาพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลเขานิเวศน์กล่าว
ด้วยแนวคิดข้างต้น โรงเรียนเทศบาลบ้านเขานิเวศน์จึงจัดการศึกษามุ่งเน้นทางด้านการประกอบอาชีพให้เด็กฝึกทักษะทางด้านอาชีพหลายด้านตลอดมา และในปีที่ผ่านมา ด้วยสนับสนุนจาก โครงการส่งเสริมการเรียนรู้สุขภาวะสำหรับเด็กด้อยโอกาส โดยสำนักงานสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โรงเรียนเทศบาลเขานิเวศน์จึงได้จัดทำ "โครงการพัฒนาทักษะอาชีพทำกระถางต้นไม้สร้างชีวิตและตัดเย็บสร้างรายได้" ขึ้นโดยมุ่งเน้นการฝึกทักษะอาชีพให้แก่เด็กนักเรียนที่ฐานะยากจนพิเศษซึ่งครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
"เด็กระดับประถมจะฝึกทักษะการทำกระถางต้นไม้จากผ้าขนหนู ส่วนเด็กมัธยมจะฝึกการตัดเย็บผ้า กระบวนการสอนเน้นเกิดความคงทนในการเรียนรู้ เด็กได้เรียนรู้ทุกขึ้นตอนตั้งแต่การลงมือทำ ไปจนถึงการขายและทำบัญชีค่าใช้จ่าย" รัสวดี วาสนะ ครูผู้รับผิดชอบโครงการ เล่าถึงกิจกรรมการฝึกทักษะที่ได้รับความร่วมมือจากชุมชนทั้งในการเป็นวิทยากร เป็นแหล่งเรียนรู้ และการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ
"ตามโครงการมีเด็กเล็กที่สุดคือชั้น ป. 2 เด็กเล็กได้ฝึกทั้งทักษะการทำกระถางต้นไม้จากผ้าขนหนูและทุกคนทำเป็นทุกขั้นตอน แต่จะมีกิจกรรมที่แบ่งกันทำตามความถนัด เช่นผู้ชายชอบระบายสีขณะที่ผู้หญิงถนัดงานประดับตบแต่ง เป็นการฝึกการทำงานเป็นทีม" สุจิตพลารักษ์ แสงกล้า ครูผู้รับผิดชอบกิจกรรมกระถางต้นไม้สร้างชีวิตกล่าว
เช่นเดียวกับการฝึกตัดเย็บ ซึ่งเน้นการทำกระเป๋าผ้าเพื่อรณรงค์การลดใช้ถุงพลาสติก ซึ่งเป็นสินค้าขายดีเป็นที่ต้องการของตลาด เด็กมัธยมต้องเรียนรู้ทั้งกระบวนการและสามารถแบ่งงานกันทำได้เช่นกัน และเมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายแล้ว ก็สามารถสร้างเป็นรายได้ให้แก่นักเรียนด้วย
"เด็กจะมาทำงานกันในวันหยุด หรือบางครั้งก็เอางานกลับไปทำที่บ้านทำให้มีรายได้อย่างน้อยวันละ 200 บาทต่อคน และที่ตลาดถนนคนเดิน กระเป๋าผ้าถุงผ้าขายดีมาก เด็กๆ จะนำไปขาย ซึ่งจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกรวมแล้วราวๆ 300-500 บาทต่อคน" สุทธิลักษณ์ บิลละโสย ครูผู้รับผิดชอบกิจกรรมตัดเย็บสร้างอาชีพกล่าวอย่างภูมิใจที่ทำให้เด็กมีรายได้
"หนูหัดทำตอนเรียน ป.4 ทำกระถางไปขายเป็นรายได้มาแล้วนับสิบกระถาง และรู้สึกสนุกมากที่ได้ออกไปขายกระถางที่เป็นผลงานของตนเองที่ตลาดถนนคนเดินในวันเสาร์" "น้องเบสท์" ศิริประภา พาทัน นักเรียนชั้น ป.5 เล่าถึงความสนุกในการนำผลงานของตนเองไปขาย
กระบวนการสอนทักษะของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลเขานิเวศน์สร้างบรรยากาศประสบการณ์ฝึกอาชีพได้อย่างแท้จริง เด็กๆ ในทุกระดับชั้นมีความกระตือรือร้น สามารถผลิตสินค้าที่ตนเองรับผิดชอบได้ และขยายการผลิตสู่การทำบัญชีรับจ่าย การขาย และการรับสั่งสินค้าล่วงหน้าตามที่ลูกค้าต้องการได้ด้วย
รายได้เสริมระหว่างเรียนย่อมสามารถช่วยให้สภาพความเป็นอยู่ของนักเรียนดีขึ้น และเป็นการฝึกทักษะอาชีพทั้งการสร้างผลิตภัณฑ์ กระบวนการขาย ระบบบัญชี ฯลฯ ไม่เพียงเท่านั้น นักเรียนยังเกิดความภูมิใจในตนเอง มีความสุขในการทำงาน ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และเป็นรากฐานในการนำไปสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวต่อไปในอนาคตได้อีกด้วย.