กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--ไอแอมพีอาร์
รสชาติของอาหารและวิธีปรุงของแต่ละท้องถิ่นย่อมมีความแตกต่างกันไป แต่รสชาติหลักๆ ของอาหารเหมือนกัน คือ เปรี้ยวหวานมันเค็มและเผ็ด รสชาติทั้งห้ามีอยู่ในอาหารทุกท้องถิ่น ซึ่งถือว่าเป็นรสอาหารประจำชาติไทย
แต่อย่างไร การบริโภครสชาติหวานมันเค็มจัดไม่ดีต่อร่างกายนัก เพราะเป็นที่มาของโรคเบาหวาน ความดัน และโรคอ้วน ยิ่งหากเป็นผู้สูงอายุ ยิ่งจำเป็นต้องลดหวานมันเค็มลงให้น้อยกว่าคนทั่วไป
ที่ บ้านแอร้อง อำเภอบันนังสตาร์ จังหวัดยะลา เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ ด้วยลักษณะการดำรงชีวิตแบบชนบทภาคใต้ที่ปรับเปลี่ยนจากครอบครัวขยาย (Extend Family) ไปสู่ครอบครัวเดี่ยว (Nuclear Family) ทำให้ผู้สูงอายุต้องอยู่ตามลำพังขาดผู้ดูแล ยิ่งหากคู่ชีวิตลาจากโลกนี้ไป ผู้สูงอายุยิ่งว้าเหว่และรู้สึกว่าตนเองลดคุณค่าลง สิ้นหวังในชีวิต และแยกตัวออกจากสังคม ก่อให้เกิดปัญหาทางจิตใจและเสี่ยงการเป็นโรคซึมเศร้า และนอกจากนั้น ผู้สูงอายุในชุมชนยังมีปัญหาด้านโรคเรื้อรังคือ น้ำหนักเกิน เบาหวาน และความดันโลหิตสูงอีกด้วย
ด้วยปัญหาของผู้สูงอายุ ชุมชนบ้านแอร้องร่วมกับหน่วยงานทั้งทางด้านการปกครองและสาธารณสุขได้จัดตั้งกลุ่มแกนนำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาในรูปแบบสภาผู้นำชุมชน จากการสำรวจพบว่า ปัญหาเกิดจากปัจจัยหลายประการ นอกจากปัญหาที่ผู้สูงอายุต้องอยู่ตามลำพังแล้ว ยังมีปัจจัยสำคัญคือ ผู้สูงอายุขาดความรู้ในการดูแลตัวเอง ผู้ดูแลขาดความเข้าใจในวิธีการดูแลผู้สูงอายุ และพฤติกรรมการบริโภคอาหารหวานมันเค็มจัด รวมถึงขาดการออกกำลังกาย
ด้วยปัญหาดังกล่าว "สภาผู้นำชุมชน" จึงจัดทำโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้ "โครงการผู้สูงวัยใส่ใจสุขภาพ" โดยจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครขึ้นเพื่อดูแลผู้สูงอายุ โดยมีการจับคู่ผู้สูงอายุกับบุตรหลานในครอบครัวในชื่อ "หมอน้อย" เพื่อให้เยาวชนในพื้นที่ตั้งแต่ชั้นมัธยมต้นจนถึงอุดมศึกษามีความรู้ความเข้าใจและมีจิตอาสาในการดูแลผู้สูงอายุจำนวน 35 คน
"รู้สึกภูมิใจ ประทับใจ อยากทำกิจกรรมดูแลผู้สูงอายุ และเกิดความรักในการดูแลผู้อื่น" รุสตรรม์ หะยีสาเอะ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนสตรียะลา หมอน้อยอาสาของชุมชน ผู้ดูแลผู้สูงอายุที่ไม่มีบุตรหลานดูแลถึง 8 คน เล่าถึงความรู้สึกดีในการได้ดูและผู้สูงอายุและจากประสบการณ์ประทับใจ โดยรุสต์ ตั้งใจจะทำงานทางด้านสาธารณสุขต่อไป
"หมอน้อยเป็น Buddy ประจำตัวของผู้สูงอายุ หน้าที่สำคัญคือการจดบันทึกพฤติกรรมการกินอาหาร และการออกกำลังกายของญาติผู้ใหญ่ที่ตนเองดูแลอยู่ ซึ่งนอกจากเราจะได้ผู้ดูแลที่เข้าใจวิธีการดูแลผู้สูงอายุอย่างถูกวิธีและได้ข้อมูลของผู้สูงอายุอย่างแม่นยำแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ของครอบครัวได้เป็นอย่างดี" อามีเนาะห์ มะลิแต พยาบาลวิชาชีพ รพสต. บ้านทำนบ อำเภอบันนังสตาร์ ผู้เป็นหนึ่งในสภาผู้นำชุมชนขยายความ
การออกกำลังกายของผู้สูงอายุก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่สภาผู้นำชุมชนพบว่า ผู้สูงอายุไม่ค่อยออกกำลังกาย ด้วยเหตุผลทางศาสนาคือ การออกกำลังกายของหญิงมุสลิมไม่เป็นที่ควรเปิดเผยให้คนทั่วไปเห็น และกิจกรรมออกกำลังกายไม่ว่าหญิงหรือชายไม่ควรประกอบเสียงเพลง
ชุมชนแห่งนี้ค้นพบทางออกด้วยการเลือกสถานที่บริเวณหน้าบ้านผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นสถานที่ไม่อยู่ในที่แจ้งเกินไปและลับตาคนสัญจรเป็นที่ออกกำลังกายของหญิงในหมู่บ้าน ขณะที่มุสลิมชายจะออกกำลังกายที่สนามโรงเรียนตาดีกาในชุมชน และออกกำลังด้วยการนับจำนวนท่าทางแทนการใช้เพลงประกอบ
นอกจากการจัดกิจกรรมออกกำลังกายให้สอดคล้องกับหลักศาสนาพร้อมๆ กับให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุด้านการปฏิบัติตน สภาผู้นำชุมชนยังเน้นการให้ความรู้ทางด้านธรรมะโดยมีกิจกรรมบรรยายธรรมให้แก่ผู้สูงอายุในชุมชนที่มัสยิดเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตและความสามัคคีในชุมชน
เพื่อติดตามผลงานของ "หมอน้อย" และเหล่าผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง ชุมชนจึงได้จัดให้มีการประกวดผู้สูงอายุสุขภาพดี โดยใช้เกณฑ์ดัชนีมวลกาย ความดัน และรอบเอว รวมทั้งพิจารณาจากบันทึกของหมอน้อยทั้งด้านอาหารการกินและการออกกำลังกาย จนได้ผู้สูงอายุสุขภาพดีเป็นตัวอย่างในชุมชนถึง 5 คน และนอกจากกิจกรรมข้างต้น ชุมชนยังมองลึกไปที่ต้นตอสำคัญของปัญหาสุขภาพในผู้สูงอายุคืออาหาร สภาผู้นำชุมชนจึงจัดกิจกรรมรณรงค์ด้านอาหารขึ้น
"โดยทั่วไปชาวบ้านกินอาหารกันตามปกติ มีหวานเค็มมัน แต่ถ้าเป็นงานเลี้ยงจะนิยมเนื้อสัตว์ แกงกะทิ ของหวาน และน้ำอัดลม ดังนั้นเราจึงจัดประกวดทำอาหารเมนูผู้สูงอายุขึ้นในวันผู้สูงอายุเพื่อเป็นเมนูแนะนำสำหรับงานเลี้ยงในชุมชนที่ไม่หวานมันเค็มเกินไป" อามีเนาะห์เล่า
จากการประกวดเมนูอาหารในวันผู้สูงอายุ ซึ่งมีทั้งคาวหวานและอาหารว่าง อาทิ ยำผักกูด เมี่ยงคำ ข้าวยำสมุนไพร แกงกล้วยดิบ น้ำพริก ข้าวโพดแปรรูป ฯลฯ โดยที่เมนูที่ได้รางวัลที่ 1 คือแกงเลียง
"หลายเมนูเช่น แกงกล้วยดิบ น้ำพริกข้าวโพด ยำผักกูด ใช้วัตถุดิบดีต่อสุขภาพ เป็นอาหารพื้นเมืองประยุกต์ มีการลดเค็มหวาน และมีไขมันเหมาะสม แต่แกงเลียงเป็นเมนูที่ดีที่สุดสำหรับผู้สูงอายุ รสชาติไม่จัดเกินไป มีผักมาก และไม่มีไขมัน" มายูรา บีมา ประธานกลุ่มสุขภาพบ้านแอร้อง ผู้เป็นกรรมการตัดสินการประกวดอาหารอธิบาย
กิจกรรมโครงการผู้สูงวัยใส่ใจสุขภาพของบ้านแอร้องเป็นโครงการดีๆ ที่สร้างสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจที่ดีให้แก่ผู้สูงอายุในมิติต่างๆ ทั้งอาหาร การออกกำลังกาย และการดูแลผู้สูงอายุ โดยสร้างกิจกรรมที่เหมาะสมกับศาสนาและท้องถิ่น และได้เมนูอาหารเหมาะสมท้องถิ่นกับสุขภาพของคนในชุมชน จึงเป็นหนึ่งในโครงการดีๆ ที่สร้างสุขได้ให้แก่ชุมชนที่น่าสนใจยิ่ง.