กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--ไอแอมพีอาร์
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาสารปนเปื้อนทางการเกษตรอย่างหนัก ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ระบุตัวเลขการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตร สารกำจัดวัชพืช สารกำจัดแมลง สารป้องกันและกำจัดโรคพืช ปี พ.ศ. 2560 มีมูลค่ารวมกันสูงถึง 27,922 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อน นับเป็นเรื่องที่น่าวิตกสำหรับผู้บริโภคอย่างยิ่ง
แม้จะเป็นคนกลุ่มน้อยแต่สมาชิก กลุ่มเกษตรธรรมชาติบ้านปลักธง ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ยังคงมุ่งมั่นผลิตพืชผักให้คนในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงได้มีพืชผักปลอดภัยไว้บริโภค โดยรวมกลุ่มกันดำเนินโครงการในประเด็น "การส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและบริโภคผักปลอดภัยในครัวเรือน" โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ปุณยนุช พัฒโน ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติบ้านปลักธง เล่าว่าเดิมเคยทำงานในโรงแรม มีที่ดินอยู่ 7 ไร่ จึงจัดสรรแบ่งเป็นพื้นที่ปลูกต้นไม้ ลงต้นไม้ขนาดใหญ่ไว้ก่อนและมีบ่อเลี้ยงปลาอีก 1 ไร่ นอกจากผลไม้ในสวนก็จะปลูกพืชผักต่างๆเพื่อออกจำหน่าย ได้พบกับกลุ่มผู้ขายผักในตลาดของเทศบาลเมืองคอหงส์ จึงได้รวมกลุ่มจัดตั้งคณะทำงาน 10 คน ซึ่งมีประธานชุมชนร่วมเป็นคณะทำงาน แลกเปลี่ยนความรู้การปลูกผักปลอดภัย การรวมกลุ่มนำพืชผักออกจำหน่ายให้คนในชุมชน และส่งไปจำหน่ายในตัวเมืองหาดใหญ่ด้วย
"ชุมชนเรามีการปลูกผักปลอดสารพิษอยู่แล้ว ก็เป็นกลุ่มที่ซื้อขายผักในตลาดที่เทศบาลสนับสนุน ขายในตลาดสีเขียว ปลูกกันเองขายขายกันเอง พวกคะน้า ผักกาดขาว ผักอายุสั้น ถั่วฝักยาว แตงกวา มะเขือ พริก ตะไคร้ ข่า ขิง ไม่มีการแย่งตลาดกัน ขายในชุมชนบ้างเอาไปส่งในตัวเมืองหาดใหญ่ตามร้านที่รู้จักบ้าง พวกร้านอาหารตามสั่ง อาทิตย์ละ 5 กก. ใครมีผักอะไรก็ฝากกันไปขาย แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องเป็นผักไม่ใช้ยา ถ้าใช้ยาเราจะไม่ส่งขายให้" ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ กล่าว
ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ปลูกผักปลอดภัยไว้บริโภคเอง 50 คน แม้แต่ละครอบครัวจะมีพื้นที่ปลูกผักไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ที่ต้องการมีรายได้เล็กๆ น้อยๆ ขณะเดียวกันก็ช่วยลดรายจ่ายในครอบครัวไม่ต้องซื้อผักจากแหล่งที่ไม่รู้จัก ส่วนเรื่องการป้องกันแมลงนั้น เนื่องจากแต่ละครอบครัวปลูกพืชผักหลากหลาย ทำให้แมลงไม่ค่อยรบกวน แต่ถ้าจำเป็นจะต้องใช้สารป้องกันแมลงทางกลุ่มก็จะมีการสอนให้ทำสารชีวภาพ โดยเชิญหน่วยงานด้านเกษตรในพื้นที่มาให้ความรู้
"สัปดาห์หนึ่งก็มีการนำผักไปขาย 3 วัน ตลาดเทศบาลเมืองคอหงส์ 1 วัน ตลาดต้องชมสยามนครินทร์ อีก 2 วัน ทั้งสองแห่งเขาเน้นผักปลอดภัย ลูกค้าเห็นเราก็จะรู้กันว่าเราขายผักปลอดสารพิษ ชาวบ้านรู้แล้วว่าชุมชนของเรากำลังทำโครงการผักปลอดภัย ก็มีความตื่นตัวโดยเฉพาะกลุ่มที่ทำกันอยู่แล้ว ตอนนี้ก็วางแผนจะเอาไปขายริมถนน เพราะเป็นทางผ่าน ในเขตเทศบาลนี้มีโรงงาน มีมหาวิทยาลัย ค่ายทหาร ผู้บริโภคเยอะ ต่อไปก็จะเสนอให้เทศบาลทำตรารับรองว่าเป็นผักปลอดภัย" ปุณยนุช พัฒโน ระบุ
ทางด้าน ชญาธร บวรทวีโชค เกษตรกรเจ้าของสวนทวีโชค สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมธรรมชาติ ซึ่งลาออกจากงานประจำมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว บอกว่าใช้ผืนดิน 4 ไร่ หลังเทศบาลเมืองคลองหงส์ เป็นที่พักอาศัยและสวนเกษตร ปลูกข้าวโพดหวานหลายสายพันธุ์ และพืชผักปลอดภัยส่งขายอย่างต่อเนื่องตลอดปี และที่นี่ยังเป็นศูนย์เรียนรู้การเกษตรปลอดสารพิษให้ชาวชุมชน ผู้สนใจเข้าชมแลกเปลี่ยนความรู้ได้ทุกวัน
"ที่นี่ปลูกผักอายุสั้น พยายามปลูกที่ไม่ซ้ำกับคนอื่น ทดลองปลูกผักที่แถบนี้ไม่ค่อยมี พวกแมลงก็ใช้น้ำส้มควันไม้ ใช้วิธีใบไม้สุมข้างๆแปลงจุดไฟให้เกิดควันไล่แมลงบ้าง แมลงรบกวนน้อยมาก เพราะปลูกหลากหลาย ไม่มีการใช้ยาเด็ดขาด เรากินอะไรก็อยากให้ผู้บริโภคกินอาหารปลอดภัยแบบที่เรากิน ตรงนี้ถือว่าอยู่ในเมืองก็เลยทำเป็นสวนผักคนเมือง เปิดโอกาสให้คนเข้ามาที่สวนมาแลกเปลี่ยนความรู้ได้ตลอด" เจ้าของสวนทวีโชค กล่าว
ขณะที่ เดชา พุ่มพวง เกษตรกรสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติ ปลูกทั้งผลไม้และผักโดยไม่ใช้สารเคมี ยืนยันว่าสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ เน้นการปลูกพืชผักหลากหลาย เพื่อให้มีออกจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยมีรายได้จากการจำหน่ายผักวันละ 400-500 บาท ถ้าวางแผนให้ดีในบางฤดูสามารถทำรายได้ถึงวันละ 20,000 บาท ส่วนแรงจูงใจในการปลูกพืชผักไม่ใช้สารเคมี เพราะเห็นว่าปลอดภัยกับตัวผู้ปลูกเอง สามารถบริโภคได้อย่างสนิทใจ และยังปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆด้วย
"ไม่ต้องเสี่ยงกับสารเคมี ไม่ต้องเสียเงินไปซื้อสารเคมีมาใช้ ถ้ามีแมลงก็ใช้น้ำส้มควันไม้ทำเองได้ ปลอดภัยต่อตัวเอง ปลอดภัยต่อลูกผมซึ่งยังเป็นเด็กอยู่ เขาสามารถเก็บอะไรกินในสวนได้หมดไม่ต้องกังวล" เดชากล่าว
โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและบริโภคผักปลอดภัยในครัวเรือน แม้อยู่ในระหว่างเริ่มต้นแต่ก็มีแบบอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม มีแหล่งเรียนรู้ ที่สามารถกระตุ้นให้สมาชิกคนอื่นๆ ในชุมชนแห่งนี้หันมาตระหนักในเรื่องของพิษภัยของสารเคมี โดยเริ่มจากปลูกผักปลอดภัยไว้กินเองในครอบครัว ที่สามารถต่อยอดขยายผลจนสามารถสร้างเป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้อีกด้วย.