“บ้านสหกรณ์” ใช้กลไกความเข้มแข็ง “สภาผู้นำ” ชูทำ “เกษตรผสมผสาน” แก้ปัญหาเศรษฐกิจชุมชน

ข่าวทั่วไป Thursday October 11, 2018 15:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--ไอแอมพีอาร์ แม้พื้นที่หมู่ที่ 3 บ้านสหกรณ์ ตำบลเขาขาว อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช จะมีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะสมแก่การทำเกษตรกรรม แต่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวโดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมัน ทำให้เกษตรกรประสบกับปัญหาภาวะหนี้สิน เนื่องจากราคารับซื้อผลผลิตตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านในชุมชนบ้านสหกรณ์จึงรวมตัวกันพร้อมแรงหนุนเสริมจากหลายหน่วยงานช่วยกันขับเคลื่อน ปรับเปลี่ยนวิถีเกษตรแบบเดิม หันมาทำการเกษตรแบบผสมผสานเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจในครัวเรือนให้เบาบางลง ภายใต้ "โครงการชุมชนน่าอยู่ หมู่ที่ 3 บ้านสหกรณ์ ตำบลเขาขาว" โดยการสนับสนุนของ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มณีรัตน์ สีปูน หัวขบวนของผู้ขับเคลื่อนโครงการ ยอมรับว่าบ้านสหกรณ์ หมู่ที่ 3 ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน มีปัญหาด้านเศรษฐกิจรายได้ไม่พอรายจ่าย จากการเปิดประชุมระดมความเห็นครั้งแรก ได้ข้อสรุปว่าจะสร้างอาชีพให้เกิดขึ้นในชุมชนเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก แต่การดำเนินงานในปีแรกเป็นไปอย่างขลุกขลัก จึงกลับมาทบทวนใหม่และให้ความสำคัญต่อการสร้างสภาผู้นำชุมชนให้เข้มแข็งในปีต่อมา เพื่อใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ให้ไปสู่เป้าหมาย "ปีแรกเราไม่ได้ทำสภาผู้นำ ไม่ชัดเจน พอปีที่สองเรามีสภาผู้นำเข้มแข็ง ทุกหน่วยงานในพื้นที่เป็นภาคีทั้งหมด พอมีสภาผู้นำ มี สสส.มาช่วย การขับเคลื่อน การออกแบบกิจกรรมทุกอย่างผ่านสภาผู้นำ สมัยก่อนต่างคนต่างทำ สภาผู้นำมี 20 กว่าคนเรียกประชุมก็ไม่ค่อยมีใครมาตอนนี้สภาผู้นำมา 40 กว่าคนทุกคนเข้าร่วม เพราะเห็นว่ามีประโยชน์ช่วยเหลือชุมชนได้จริง" มณีรัตน์ กล่าว แม้ว่าจะได้สภาผู้นำที่เข้มแข็งแล้ว ชุมชนบ้านสหกรณ์ ยังคงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้เกิดกลุ่มอาชีพต่างๆ เช่น กลุ่มปลูกผักปลอดภัย กลุ่มเกษตรผสมผสาน กลุ่มเลี้ยงไก่ กลุ่มเลี้ยงปลา กลุ่มทำเครื่องแกงตำมือ และกลุ่มอาชีพอื่นๆ เกิดความเปลี่ยนแปลงตัวบุคคล มีเกษตรกรต้นแบบ มีศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรของชุมชน โดยให้ปราชญ์ท้องถิ่น ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสายอาชีพเป็นผู้ถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน "แต่ก่อนมีความความแตกแยกกัน เดี๋ยวนี้เป็นอันหนึ่งอันเดียว เราก็ภูมิใจ ได้สภาผู้นำที่เข้มแข็ง เป็นตัวอย่างให้ที่อื่นได้ ชาวบ้าน น้องๆ ให้ความร่วมมือดี เรามีหลายภาคีที่อยู่ในตำบลเขาขาวเข้าร่วมทั้งหมด ราคายางตอนนี้กิโลกรัมละ 40 บาท ถ้ายังยึดติดแบบเดิม ถ้าไม่มีกลุ่มอาชีพเสริมเราตายเลย" มณีรัตน์กล่าว ทางด้าน ประสิทธิ์ ย้อยคำ หัวหน้ากลุ่มปลูกผักปลอดภัย เกษตรกรเจ้าของสวนยางพารา 10 ไร่ แต่ปรับเปลี่ยนมาปลูกผักปลอดภัยส่งจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากราคายางตกต่ำรายจ่ายสูงกว่ารายรับ จึงคิดกันในหมู่เครือญาติว่าจะทำอย่างไรให้มีรายได้มาทดแทนรายได้ที่หายไป จึงรวมกันปลูกผักปลอดภัย ใช้จุลินทรีย์ น้ำหมัก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ในการเพาะปลูก โดยในครั้งแรกรวมกลุ่มกันได้ 5 คน ตกลงกันว่าจะปลูกผักที่ไม่เหมือนกัน แต่ตอนหลังมาคุยกันใหม่เพราะราคาผลผลิตของพืชผักแต่ละชนิดไม่เท่ากัน "แต่ก่อนปลูกเหมือนๆกัน ตอนหลังมาคุยกันใหม่เพราะเรื่องราคา บางครั้งแตงกวาราคาสูงใครที่ปลูกแตงกวาก็โชคดีไป แต่คนที่ปลูกถั่วไม่ได้ราคาก็ขาดทุนไป เลยมาคุยกันว่าเราควรปลูกแบบผสมผสาน ปลูกซ้ำกันก็ได้แต่ปลูกเหลื่อมเวลาไม่พร้อมกัน วางโปรแกรมในการปลูกร่วมกัน เราจะไม่ให้ซ้อนกัน ยกเว้นผักระยะยาว พวกมะเขือ พริก ถ้าผักรอบเร็วก็จะปลูกทิ้งระยะเวลาห่างกัน เพื่อให้มีผลผลิตออกจำหน่ายต่อเนื่อง ตอนนี้กลุ่มปลูกผักมี 20 กว่าคน เมื่อก่อนต่างคนต่างขาย แต่ตอนนี้เราจะแบ่งเป็น 2 ระบบ คือแม่ค้าในหมู่บ้านตลาดนัด อีกส่วนหนึ่งขายเองได้ราคาดีกว่า" หัวหน้ากลุ่มปลูกผักปลอดภัยกล่าว ขณะที่ ณัฐมน มานันชัย เกษตรต้นแบบ เจ้าของรางวัลครัวเรือนต้นแบบของตำบลเขาขาว ประจำปี 2559 ซึ่งใช้ประโยชน์ในพื้นที่รอบบ้านในการทำเกษตรทั้งปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ได้อย่างเต็มรูปแบบ เป็นต้นแบบของเกษตรกรที่ทำทุกอย่าง ตั้งแต่การจัดทำบัญชีครัวเรือน ทำน้ำหมักต่างๆ ไว้ใช้เอง ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ทั้งไก่และปลาที่อาศัยอยู่ในร่องน้ำเล็กๆ ซึ่งไหลผ่านที่ดิน เป็นต้นแบบให้สมาชิกชุมชนได้เข้ามาเรียนรู้นำไปต่อยอด "ก็ทำทุกอย่าง ช่วยลดหนี้สินได้พอสมควร ตอนนี้ก็มีเงินออมอยู่บ้างดีกว่าเมื่อก่อนเยอะ มดแดงเราก็เลี้ยงปีนี้ได้หลายสตางค์ ทุกตารางนิ้วเราใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า กระเทียมก็ปลูกไว้กินเอง ปลูกสมุนไพรด้วย หลายอย่างที่เรากินอยู่ทุกวัน มีคนมาขอคำแนะนำเรื่อยๆ ในตำบลนี้ก็มากันทุกหมู่" เกษตรกรต้นแบบกล่าว ปัจจุบันโครงการชุมชนน่าอยู่บ้านสหกรณ์ หมู่ที่ 3 ยังคงมุ่งเน้นช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ดำเนินอย่างต่อเนื่องและเห็นผลชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม ดำเนินการคัดแยกขยะควบคู่กันไปด้วย ภายใต้สภาผู้นำที่ช่วยกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อให้เป็นประโยชน์สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ