กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--ไอแอมพีอาร์
บ้านแหลมสอม หมู่ที่ 4 ตำบลหนองทะเล อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ เป็นชุมชนไทยมุสลิมที่ตั้งอยู่นอกตัวเมือง มีบ้านเรือนอยู่ 170 หลัง ประชากรราว 700 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน และรับจ้าง แม้จะอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยว เช่น อ่าวนาง หาดคลองม่วง หาดนพรัตน์ธารา หาดทับแขก แต่ก็เป็นเพียงแค่ทางผ่าน รายได้หลักของคนชุมชนจึงมาจากภาคเกษตร ทำให้ประสบปัญหารายได้ไม่แน่นอนเพราะต้องขึ้นอยู่กับราคาพืชผลทางการเกษตร
แต่ชุมชนแห่งนี้ก็ไม่ได้เพิกเฉยกับปัญหาที่เกิดขึ้น "สภาผู้นำชุมชน" จึงชวนสมาชิกในหมู่บ้านมาร่วมกันหาทางออกและทางเลือกให้กับคนในชุมชน ด้วยการนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในบ้านแหลมสอมมาสร้างสรรค์และพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ เพื่อสร้างอาชีพสร้างรายได้เสริมให้กับสมาชิกในชุมชน ภายใต้การขับเคลื่อนของ "โครงการชุมชนน่าอยู่หมู่ที่ 4 บ้านแหลมสอม" โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ในฐานะผู้นำชุมชน รุ่งโรจน์ บุตรหลี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 บ้านแหลมสอมยอมรับว่า ลูกบ้านมีอาชีพพึ่งพาพืชผลทางการเกษตรเป็นหลัก ทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมันและส่วนหนึ่งทำไร่สับปะรด แต่ราคาผลผลิตล้วนแต่ตกต่ำ เมื่อมามองดูแล้วพบว่าท้องถิ่นพบว่าในหมู่บ้านมีลำคลองที่ใสสะอาด ที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ ประกอบกับการมี "สภาผู้ชุมชน" ที่สามารถช่วยกันกำหนดทิศทางในการพัฒนาพื้นที่ได้ จึงได้ประชุมกับหลายฝ่ายรวมทั้งขออนุญาตจากองค์การบริหารส่วนตำบลหนองทะเล ตกแต่งสภาพลำน้ำ "คลองหนองทะเล" หรือที่เรียกกันว่า "คลองหรูด" ให้เหมาะแก่การท่องเที่ยวชมธรรมชาติ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ท้องถิ่นให้คนในชุมชนมีรายได้เสริมจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังหมู่บ้าน
"ปีแรกเรารวมกลุ่มกันจัดตั้งสภาผู้นำ มีตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ ทั้งผู้นำศาสนา อสม. ผู้สูงอายุ สมาชิก อบต. และเยาวชน มาพูดคุยถึงปัญหาและหาแนวทางแก้ไขปรับปรุง เรื่องหนี้ก็มีกันเกือบทุกครัวเรือน เมื่อก่อนมองเห็นแล้วว่าที่นี่มีศักยภาพน่าจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ได้ เพราะอยู่ในละแวกเดียวกันและเป็นทางผ่านไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเช่น อ่าวนาง หาดนพรัตน์ธารา หาดทับแขก แต่นักท่องเที่ยวไม่รู้ เพราะไม่มีถนนเข้าถึง พอมีถนนขึ้นมาก็เลยมีความคิดว่าน่าจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้" ผู้ใหญ่รุ่งโรจน์ เล่าถึงที่มาการพัฒนาคลองหรูดให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว
เมื่อมีทิศทางที่ชัดเจนแล้วผู้นำชุมชนจึงได้เชื่อมโยงกับสมาชิกชุมชนทุกเพศทุกวัยให้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของและช่วยกันดูแล ทั้งการปรับแต่งสถานที่ ใช้งบประมาณจากกองทุนพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (SML) นำไปซื้อเรือคายัค 9 ลำ สำหรับให้นักท่องเที่ยวพายชมธรรมชาติในคลอง สร้างระบบการบริหารจัดการ นำกลุ่มเยาวชนในท้องถิ่นมาช่วยกันดูแล จัดสรรรายได้ พร้อมจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับนักท่องเที่ยวที่เริ่มรู้จักและแวะเข้ามาเที่ยวยังหมู่บ้านแหลมสอมมากขึ้นเป็นลำดับ
"ตอนนี้นักท่องเที่ยวเริ่มรู้จักที่นี่แล้ว เราช่วยกันพัฒนาตัดแต่งต้นไม้ ทำให้คลองกว้างขึ้น มีที่พายเรือ ที่สำหรับเล่นน้ำ ชุมชนช่วยกันดูแล ส่วนหนึ่งเข้าหมู่บ้าน อีกส่วนเป็นรายได้สำหรับเยาวชนในวัยเรียน 7-8 คนที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาดูแล เราพยายามเชื่อมคนทุกวัย ผู้สูงอายุก็มีส่วนสำคัญในการให้คำปรึกษาขับเคลื่อน ช่วยดูสภาพแวดล้อม ถ้าสถานที่เสร็จพร้อมแล้วก็อาจจะให้นำสินค้าในท้องถิ่นมาจำหน่าย กำลังคิดเรื่องแปรรูปสับปะรดเพื่อช่วยเกษตรกรอีกทาง" ผู้นำชุมชนกล่าว
ทางด้าน ธนวิทย์ หยังกูล เยาวชนอายุ 24 ปี กำลังศึกษาอยู่ระดับปริญญาตรี ด้านนันทนาการและการท่องเที่ยว สถาบันการพลศึกษาจังหวัดกระบี่ ทำหน้าที่หัวหน้ากลุ่มเยาวชนคอยต้อนรับนักเที่ยว ดูแลความปลอดภัย ช่วยกิจกรรมตั้งแต่การปรับแต่สถานที่ให้มีสภาพแวดล้อมน่ามอง ดูแลความสะอาด มีรายได้ส่วนหนึ่งจากการดูแลนักท่องเที่ยว
"ส่วนหนึ่งก็เป็นการช่วยเหลือชุมชนที่เราอยู่ ก็มาช่วยดูแลนักท่องเที่ยว แบ่งหน้าที่กัน มีฝ่ายต้อนรับ พายเรือนำนักท่องเที่ยว ดูแลความปลอดภัยคอยช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ก็จะบอกน้องๆ เสมอว่าให้ช่วยกันรักษาความสะอาดสภาพแวดล้อมเอาไว้เพราะเป็นจุดขายของชุมชนของเรา" ธนวิทย์ กล่าว
ขณะที่ สังวาลย์ บุญนารักษ์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หนึ่งในสมาชิกสภาผู้นำ กล่าวว่า การมีสมาชิกสภาผู้นำทำให้การขับเคลื่อนชุมชนชัดเจน อสม. เองมีหน้าที่ช่วยเสริมในเรื่องสุขภาพของคนในชุมชน ให้ความรู้การดูแลสุขภาวะ ลงพื้นที่พบสมาชิกชุมชน ช่วยเฝ้าระวังเตือนภัยโรคไข้เลือดออก ขณะเดียวกันก็ช่วยในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ดูแลความสะอาด ร่วมกันปลูกต้นไม้ รักษาสภาพแวดล้อมในร่มรื่นน่าท่องเที่ยว
"อสม.ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสภาผู้นำทั้งหมด นอกจากลงพื้นที่ตรวจดูแลพวกเบาหวาน ความดัน ก็แนะนำเรื่องการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย ส่วนเรื่องท่องเที่ยวทางทีม อสม.ก็มาช่วยในการจัดกิจกรรมทุกครั้ง ปลูกต้นไม้บ้าง นัดกันทำความสะอาดบ้าง เพื่อให้ชุมชนของเราน่าอยู่" สังวาลย์ กล่าว
การดำเนินงานพัฒนาพื้นที่ "คลองหนองทะเล" หรือ "คลองหรูด" ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนบ้านแหลมสอม แม้จะเพิ่งเริ่มต้นดำเนินงานได้ไม่นานนัก แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีโดยเริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้การดำเนินการดังกล่าวเกิดความยั่งยืนก็คือการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน และความร่วมมือจากทุกฝ่าย ที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกันในการสร้างและพัฒนาหมู่บ้านแห่งนี้ให้กลายเป็นชุมชนน่าอยู่อย่างยั่งยืน.