กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--ไอแอมพีอาร์
ไม่เพียงเฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้นที่ถูกกระแสโฆษณากระตุ้นให้บริโภคอาหารที่แทบไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะอาหารฟาสต์ฟู้ดซึ่งส่วนใหญ่มีราคาแพงมากกว่าอาหารมื้อปกติและไม่มีสารอาหารที่มีประโยชน์ครบทุกหมู่ ในกลุ่มเด็กและเยาวชนเองก็มักถูกปลุกเร้าทางการตลาดให้เป็นผู้บริโภคตั้งแต่อายุน้อย จนสร้างสุขนิสัยการกินที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกายในอนาคต
โรงเรียนวัดเมืองใหม่ ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เป็นโรงเรียนในชุมชนกึ่งเมือง ตั้งอยู่ริมถนนทางผ่านจากสนามบินภูเก็ตเข้าสู่ตัวเมือง เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงชั้น ป.6 นักเรียนส่วนใหญ่อพยพย้ายถิ่นตามครอบครัวจากภาคอีสานเพื่อมาทำงานในเมืองภูเก็ต แต่ผลการเรียนของเด็กอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อาหารมื้อกลางวันของเด็กก็เป็นไปตามโปรแกรมอาหารกลางวัน (Thai School Lunch) ที่รัฐบาลกำหนดมา ขณะเดียวกันก็เริ่มดำเนิน โครงการ "ส่งเสริมการบริโภคผัก ผลไม้เพื่อสุขภาพในโรงเรียนวัดเมืองใหม่" ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสร้างสุขนิสัยการกินผัก ผลไม้ ให้แก่เด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารมื้อใดก็ตาม
จากคำบอกเล่าของ กิ่งกมล แดงประดับ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเมืองใหม่ ให้ข้อมูลว่าโรงเรียนได้รับการอุปถัมภ์จากวัดเมืองใหม่ตั้งแต่เริ่มแรก สนับสนุนทั้งพื้นที่และกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งอาหารสำหรับเด็กที่ขาดแคลนในมื้อเช้า ขณะเดียวกันโรงเรียนได้เจียดพื้นที่ตั้งโรงเรือนเห็ดนางฟ้า ทำแปลงปลูกผัก บ่อเลี้ยงปลาขนาดเล็ก ให้นักเรียนช่วยกันดูแล นำเห็ด ผักหรือปลา เป็นวัตถุดิบในโรงครัวสำหรับอาหารมื้อกลางวันของนักเรียนอยู่เป็นปกติ
การดำเนินโครงการจึงเป็นการต่อยอดจากกิจกรรมที่ทำอยู่แล้ว ซึ่งจะเพิ่มความเข้มข้นปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนบางรายวิชา เช่นวิชาการงานอาชีพที่มีการเรียนการสอนด้านเกษตร เพื่อให้มีกิจกรรมการปลูกผัก รวมทั้งนำไปบูรณาการการเรียนการสอนในชั้น หรือในกิจกรรม "ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้" อีกด้วย ขณะเดียวแต่ละเทอมจะมีการเปิดตลาดนัดสีเขียว ให้นักเรียนและผู้ปกครองได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การจำหน่ายสินค้าพืชผัก การปรุงอาหารที่ทำจากผัก เพื่อสร้างการรับรู้ร่วมกับผู้ปกครองไปด้วย
"กิจกรรมที่เกี่ยวกับผัก เขตพื้นที่การศึกษามีนโยบายอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ การกินผักและผลไม้ถูกกำหนดไว้ในเมนู จะต้องมีผลไม้อย่างน้อย 1 อย่าง ทางโรงเรียนจัดให้มีตลอด ในเรื่องการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ได้มีการเน้นย้ำเป็นพิเศษ ในห้องเรียนจะเน้นให้ครูดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนที่สามารถสอดแทรกเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับผัก ในเรื่องอาหารกลางวันก็มีแม่ครัวที่รับผิดชอบ สามารถประยุกต์มื้ออาหารที่มีผัก ทำอะไรที่เด็กชอบพิเศษในเรื่องของผัก แม่ครัวของเราทำอาหารให้เด็กได้กินอย่างเต็มที่สามารถเติมได้ ครูเองจะเป็นผู้ควบคุมนักเรียนมารับประทานอาหารก็จะสังเกตการกินของนักเรียนไปด้วย" ผอ.โรงเรียนเมืองใหม่กล่าว
ทางด้าน ดารารัตน์ เกตุหนองค้อ แม่ครัวประจำโรงเรียนกล่าวว่า มื้ออาหารกลางวันจะมีผักทุกมื้อสลับกันไป ส่วนใหญ่จะเป็นผักบุ้ง ผักกาดขาว กระหล่ำปลี คะน้า และเห็ดจากโรงเรือนที่โรงเรียนเพาะไว้ มีผลไม้ตามฤดูกาล เช่น มังคุด สับปะรด แตงโม เงาะ อย่างน้อยต้องมีผลไม้ 3 วันในรอบสัปดาห์ สอดคล้องกับโปรแกรมอาหารกลางวันที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด โดยจะเน้นให้มีวัตถุดิบทั้งผักและปลาในทุกมื้อ นอกจากจะจัดหาวัตถุดิบที่สะอาดปลอดภัยจากภายนอกแล้วผักบางส่วนที่ปลูกได้ในโรงเรียนก็จะถูกนำมาปรุงอาหารด้วยซึ่งนอกจากจะได้ผักสดปลอดภัยแล้วยังช่วยลดต้นทุนได้อีกทางหนึ่ง
"ก็ทำอาหารได้ทุกอย่าง ส่วนใหญ่ก็จะเน้นผักกับปลา แกงเทโพนี่ก็ใส่ผักบุ้ง แล้วก็มีทอดมันปลา มีผลไม้ สลับกัน บางทีเด็กๆ ก็จะมาขอให้ทำอาหารที่เขาชอบกินกันบ้างก็จะทำให้" แม่ครัวของโรงเรียนกล่าว
หนึ่งในแกนนำนักเรียน ปานวาส แก้วมั่น นักเรียนชั้น ป.6 กล่าวว่าในฐานะรุ่นพี่เธอและเพื่อนๆจะมีบทบาทชักชวนให้น้องๆ รู้จักประโยชน์ของการกินผัก ให้ความรู้ว่าผักแต่ละชนิดมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไรบ้าง รวมทั้งร่วมกิจกรรมต่างๆ ทั้งในและนอกห้องเรียนที่สนับสนุนให้นักเรียนได้กินผักและผลไม้
"ทุกเช้าก็จะมีเวรผลัดกันจัดรายการเสียงตามสาย หนูและเพื่อนๆก็จะให้ความรู้เรื่องต่างๆ เรื่องการกินผัก ประโยชน์ของผักแต่ละอย่างที่เรานำปรุงอาหาร เล่าให้น้องๆ ฟัง" แกนนำนักเรียน กล่าว
โครงการส่งเสริมการบริโภคผัก ผลไม้เพื่อสุขภาพในโรงเรียนวัดเมืองใหม่ อยู่ในช่วงเริ่มต้นแต่คณะทำงานทั้งหมด พร้อมเดินหน้าทำให้เกิดความสำเร็จตามเป้าหมาย เพราะมีพื้นฐานที่ดีอยู่แล้วคือนักเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้ปฏิเสธการกินผัก และคาดว่านักเรียนจะหันมารับประทานอาหารที่มีผักเป็นส่วนประกอบมากขึ้น ทั้งอาหารกลางวันในโรงเรียน และอาหารมื้ออื่นๆ นอกโรงเรียน เป็นการปูทางสร้างสุขภาพและสุขภาวะที่ดีให้เกิดขึ้นกับตัวของเด็กนักเรียนทุกคนอย่างยั่งยืน.