กรุงเทพฯ--3 ม.ค.--กรมการค้าต่างประเทศ
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่า ความรับผิดชอบของบริษัทและองค์กรธุรกิจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมหรือ Corporate Social Responsibility (CSR) กำลังเป็นแนวคิดที่ คณะกรรมาธิการยุโรปได้พยายามผลักดันให้เป็นที่ยอมรับและแพร่หลายมากขึ้นในเวทีโลก รวมทั้งเร่งส่งเสริมความตระหนักและการมีส่วนร่วมทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทควบคู่ไปกับการดำเนินการทางธุรกิจบนพื้นฐานของความสมัครใจ นอกเหนือจากการมอง CSR เป็นเพียงการจัดกิจกรรมเพื่อคืนกำไรแก่สังคม อาทิ เรื่องสวัสดิภาพแรงงาน ความเท่าเทียมกัน การคุ้มครองแรงงานเด็ก สิทธิมนุษยชน และประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ภาคธุรกิจอียูตื่นตัวและหันมาปรับใช้แนวคิด CSR มากขึ้น โดยภาคเอกชนอียูได้พยายามจัดทำแนวปฏิบัติ (Code of Conduct) ขึ้นมาเพื่อช่วยให้ประเทศนอกอียูที่ผลิตสินค้าจำหน่ายให้อียูได้เข้าใจและปฏิบัติตามได้ง่ายขึ้น เช่น มี Business Social Compliance Initiative (BSCI) เป็นเวทีให้สมาชิกซึ่งมีจำนวน 91 บริษัท ในสาขาต่างๆ เช่น สิ่งทอ รองเท้า เครื่องประดับและอัญมณี ของเด็กเล่น เครื่องกีฬา เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ก่อสร้าง และอาหาร ได้หารือร่วมกันในเรื่อง Code of Conduct และระบบการติดตามตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรฐานสังคม (Common monitoring system) ขณะเดียวกันกระแสความสนใจของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมก็มีมากขึ้นด้วย ดังนั้น ในอนาคตบริษัทและองค์กรธุรกิจทั้งที่อยู่ในอียูและนอกอียู รวมทั้ง Suppliers ตลอดห่วงโซ่อุปทานจะต้องดำเนินกิจกรรมที่ดูแลรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย มิฉะนั้นภาคเอกชนของอียูอาจจะไม่ทำธุรกิจด้วย
ในส่วนของประเทศไทยขณะนี้ก็ได้ให้ความสำคัญกับเรื่อง CSR เช่นกัน โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้จัดตั้งตั้งคณะกรรมการวิชาการ (National Mirror Committee) ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ เอกชน NGOs แรงงานและผู้บริโภค เพื่อร่วมพิจารณาให้ข้อคิดเห็นต่อร่างมาตรฐานสากลว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2552 ร่างดังกล่าวครอบคลุมแนวทางปฏิบัติที่ดีด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน แรงงาน ความซื่อตรงในการดำเนินธุรกิจ ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค การมีส่วนร่วมในสังคม และหลักธรรมาภิบาลขององค์กร ทั้งนี้ หากร่างมาตรฐานสากลดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์แล้ว ภาคเอกชนก็สามารถนำมาปรับใช้โดยไม่ต้องกำหนดแนวปฏิบัติขึ้นเอง ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการไทยหลายบริษัทก็สนับสนุนแนวคิด CSR และใช้ในการดำเนินธุรกิจด้วย เช่น ปูนซีเมนต์ไทย บางจากปิโตรเลียม เป็นต้น
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันอียูยังไม่ได้กำหนดมาตรฐานหรือกฎระเบียบเรื่องดังกล่าวเป็นกฎหมาย แต่ส่งเสริมให้บริษัทรวมทั้ง SMEs หันมาให้ความสำคัญกับเรื่อง CSR มากขึ้น นอกจากนี้ ธุรกิจใหญ่ ๆ ได้กำหนดให้มีเรื่อง CSR รวมอยู่ในนโยบายการค้าและการลงทุนแล้ว ดังนั้น การทำสัญญากับบริษัทใหญ่ ๆ เช่น ธุรกิจ IT อาจนำเรื่อง CSR ผนวกอยู่ในสัญญาของบริษัทดังกล่าวด้วย หรือในธุรกิจรถยนต์อาจกำหนดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่รถยนต์นำเข้าจะปลดปล่อยในอากาศได้ ซึ่งไทย
จะต้องผลิตให้ได้มาตรฐานด้วย อย่างไรก็ดี คณะกรรมาธิการยุโรปย้ำว่าจะไม่กำหนดมาตรฐานและแนวทางในระดับอียู เนื่องจากเห็นว่าไม่ใช่เรื่องของภาครัฐ แต่คณะกรรมาธิการยุโรปจะยังคงมีบทบาทในการส่งเสริมให้บริษัทในอียูนำแนวคิด CSR มาปรับใช้ในธุรกิจมากขึ้น
ในปี 2549 อียูนำเข้าสินค้าจากไทยมูลค่า 14,570 ล้านยูโร ปี 2550 (ม.ค.- ส.ค.) นำเข้ามูลค่า 10,814 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่ในปี 2549 อียูส่งออกสินค้ามาประเทศไทยมูลค่า 7,136 ล้านยูโร ปี 2550 (ม.ค.-ส.ค.) ส่งออกมูลค่า 4,946 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนั้น ผู้ประกอบการของไทยโดยเฉพาะ SMEs จึงควรระมัดระวังในการทำสัญญาธุรกิจการค้ากับฝ่ายอียูที่อาจนำเรื่อง CSR มาผนวกเป็นเงื่อนไขในการทำการค้าด้วย