การกำกับดูแลมาตรฐานสินค้าส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และแป้งมันสำปะหลัง

ข่าวทั่วไป Thursday January 3, 2008 16:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ม.ค.--คต.
จากการที่กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดให้ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (มันอัดเม็ดและมันเส้น) เป็นสินค้ามาตรฐานตาม พ.ร.บ. มาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ. 2503 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 เป็นต้นมา โดยได้มีการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ตลอดมา ทั้งนี้ได้กำหนดให้แป้งมันสำปะหลังเป็นสินค้ามาตรฐาน เมื่อปี พ.ศ. 2549 และได้มีการปรับปรุงล่าสุดเมื่อปี 2550 การกำหนดมาตรฐานสินค้ามันอัดเม็ด/มันเส้น และแป้งมันสำปะหลัง พร้อมกำหนดมาตรการกำกับดูแลการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้าอย่างเข้มงวด เป็นผลให้ปัจจุบันมันสำปะหลังเป็นสินค้าดวงดาว (star) และวัวอ้วนทำเงิน (cash cow) ไปแล้ว ราคาหัวมันสดพุ่งสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละเฉลี่ย 2.00 บาท ที่เชื้อแป้ง 25% เป็นที่พึงพอใจของเกษตรกร แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ ปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ ปัญหาผลผลิตต่อไร่ต่ำ คุณภาพเชื้อแป้งในหัวมันต่ำ ปัญหาการปลอมปนของผู้ส่งออกไทยบางราย ปัญหาปนเปื้อน/สารพิษตกค้าง เป็นต้น ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายเกี่ยวข้องต้องรีบแก้ไขและป้องกันปัญหาต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ ซึ่งพอสรุปได้ ดังนี้
1. เน้นในเรื่องการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ในการผลิตเพื่อให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ในขณะเดียวกันต้องรีบนำระบบ GAP (Good Agricultural Practice) มาใช้กับเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลัง โดยนำมาตรการจูงใจ เช่น เรื่องการประกันราคาหัวมันสด ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับมาตรการ (traceability) ที่ประเทศผู้นำเข้าอาจนำมาใช้กับสินค้ามันสำปะหลังในอนาคตได้อีกทางหนึ่ง
2. การขาดแคลนหัวมันสดควรดำเนินการลักษณะ outsourcing จากประเทศในกลุ่ม CLMV เช่น ลาวและเขมร ภายใต้กรอบความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอาเซียน-ลุ่มแม่น้ำโขง ในลักษณะ contract farming หรือในลักษณะ strategic partner ซึ่งจะทำให้เกษตรกรของ 2 ประเทศมีรายได้สูงขึ้น และมีรายได้ที่แน่นอนจากการขายหัวมันสดให้กับผู้ประกอบการไทย ในขณะที่ผู้ประกอบการไทยก็จะเกิดความมั่นใจในเรื่องราคาและอุปทานหัวมันสดมาป้อนโรงงานได้อย่างต่อเนื่องตลอดปี
3. พ่อค้าท้องถิ่นและลานมันควรนำหลักการ GMP (Good Manufacturing Practice) มาปรับประยุกต์ใช้ ในขณะที่โรงงานอัดมันเม็ดและโรงงานแป้งมันสำปะหลังต้องพยายามปรับตัวให้ได้รับการรับรอง ISO 9000, ISO 14000, GMP, HACCP, HALAL ให้ได้ และต้องมีการแก้ไขปรับปรุงอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา (continuous improvement)
4. ผู้ประกอบการในคลัสเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมมันสำปะหลังทั้งระบบ ควรนำหลักบริหารจัดการใหม่ ๆ มาปรับใช้ในองค์กร เช่น Supply Chain Management, Logistics, Value-Chain Management, TQM (Total Quality Management) หลักการเกี่ยวกับ Traceability, Quick Response, ความพยายามเข้าสู่ระบบบริหารคุณภาพ แนวคิด JIT (Just-In-Time) CSR (Corporate Social Responsibility) มุ่งมั่นลงทุนด้าน R&D อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จากการใช้หัวมันสดให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น (diversify products) เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและคุณค่าเพิ่มให้กับ มันสำปะหลังอันน่าจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจไทยและชาวไร่มันในที่สุด
สำหรับในรอบปี 2550 ที่ผ่านมา (มค.- 25 ธ.ค. 50) สำนักงานมาตรฐานสินค้าได้ให้บริการจดทะเบียนเป็นผู้ทำการค้าขาออกซึ่งสินค้ามาตรฐานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง จำนวน 57 ราย และแป้งมันสำปะหลัง จำนวน 146 ราย ผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า (บริษัทเซอร์เวย์) ผลิตภัณฑ์มันฯ 12 ราย และแป้งมันฯ 8 ราย ผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้า (เซอร์เวย์เยอร์) ผลิตภัณฑ์มันฯ 350 คน และแป้งมันฯ 154 คน ในส่วนของสถิติการส่งออกพบว่า ตั้งแต่เดือน มค. — ต.ค. 50 ได้ส่งออกผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลังและแป้งมันสำปะหลังไปแล้ว 4.11 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 16,594.28 ล้านบาท และ 1.47 ล้านตันมูลค่า 16,376.25 ล้านบาท ตามลำดับ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ