กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--หอการค้าไทย
เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 61 นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยถึง ผลการพิจารณากระบวนการจัดหาโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือ ธีออส 2 ของคณะกรรมการที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งขึ้นว่า พอใจผลการตรวจสอบ เนื่องจากเชื่อถือในคณะกรรมการที่มีความเป็นกลาง ทั้งนี้ใน 2 ประเด็นที่ยังไม่ข้อสรุปที่ชัดเจน ทั้งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของ Andy Witt นั้น ทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จะมีการส่งให้คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (ค.ป.ท.) พิจารณาและดำเนินการโดยตรงต่อไป รวมถึงพิจารณาว่าจะมีการจัดส่งคณะผู้สังเกตการณ์ กลับเข้ามาทำหน้าที่ต่อไปอีกหรือไม่
เนื่องจากโครงการนี้ยังอยู่ในข้อตกลงคุณธรรม แต่ขาดผู้สังเกตการณ์เนื่องจากได้ลาออกไป ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้แจ้งแล้วว่า อยากจะขอให้ผู้สังเกตการณ์ชุดเดิมกลับเข้ามาติดตามในช่วงบริหารสัญญาจนสิ้นสุดโครงการ เพราะยังมีช่วงที่บริหารสัญญา และช่วงตรวจรับอยู่ ซึ่งในทุกขั้นตอนมันก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ได้หมด และจะตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนพิเศษขึ้นมาดูแลและติดตามการดำเนินงานตามสัญญาให้โปร่งใสในทุกขั้นตอนต่อไป
โดยโครงการดังกล่าวเป็น 1 ใน 79 โครงการที่เข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรม มูลค่ารวมทุกโครงการกว่า 1.1 ล้านล้านบาท ส่วนเรื่องของข้อมูล สำหรับผู้สังเกตการณ์นั้นต้องไม่มีความลับข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดจะต้องให้ผู้สังเกตการณ์ เพราะได้เซ็น Non - disclosure agreement ข้อตกลงการไม่เปิดเผยข้อมูลไปแล้ว ดังนั้นถ้ามีกรณีข้อมูลที่รั่วไหลเกิดขึ้น ผู้สังเกตการณ์ต้องรับผิดชอบ และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ก็จะต้องดำเนินการในส่วนนี้ด้วย
"ประเด็นที่ยังไม่มีข้อสรุป ไม่มีหลักฐานปรากฎเด่นชัด อันนี้ก็จะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ ค.ป.ท.ว่าจะดำเนินการอะไรอย่างไร ถ้ายังคิดว่ามีประเด็นอยู่ ก็อาจจะมีการตั้งคณะกรรมการที่จะไปแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม โดยเฉพาะประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน ทางกรรมการก็พูดชัดแล้วว่า เวลาท่านน้อย และอาจไม่ใช่หน้าที่โดยตรง แต่ต้องเป็นหน่วยงานราชการ อย่าง คณะกรรมการ ค.ป.ท. ที่จะต้องขอข้อมูล แล้วผลออกมาอย่างไรค่อยมาว่ากันอีกที ส่วนเรื่องนี้จะไปถึง ป.ป.ช.หรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับ คณะกรรมการ ค.ป.ท.เช่นกัน ส่วนของ ACT ทุกอย่างเรายืนยันว่า ทำหน้าที่ตามกฎหมาย เป็นกระบวนการตามกฎหมาย ไม่ใช่ว่าเราจะไปทำเอง อะไรเอง คงทำไม่ได้ โดยทั้งมารยาทและโดยหน้าที่" นายวิชัยกล่าว
ดร.ธีรพล กาญจนากาศ หนึ่งในคณะผู้สังเกตการณ์ กล่าวว่า ต้องขอบคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ไม่มองผ่านความเห็นของผู้สังเกตการณ์ ซึ่งโครงการนี้เริ่มโครงการก่อนที่จะมีพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ฯ ดังนั้นจึงมีความคลาดเคลื่อนและอาจไม่เข้าใจกันบ้างระหว่างผู้สังเกตการณ์กับ จิสด้า ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องที่ถึงขั้นร้ายแรง และคณะผู้สังเกตการณ์ก็มีความเห็นร่วมกันว่า ยังไม่ปรากฎอะไรที่ชี้ชัดไปในทางทุจริต ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี ส่วนที่ยังมีบางประเด็นยังคลุมเครือ ก็ไม่ใช่ปัญหารุนแรงถึงขั้นที่จะต้องยุติโครงการแต่อย่างใด
"อย่างที่ผมเรียนแต่ต้นว่า ยังไม่เห็นอะไรที่ทุจริต ยังไม่มีอะไรชี้ชัด เพราะฉะนั้นก็เหลืออย่างเดียวว่า ประพฤติมิชอบหรือไม่ ประพฤติมิชอบคือ ปฏิบัติตามกฎระเบียบครบถ้วนหรือไม่ หากว่าครบถ้วนก็ไม่มีอะไร แต่ถ้าไม่ครบถ้วน มัวซัวไปบางจุด ผมเข้าใจว่าจะมีมาตรา 89 ของป.ป.ช.ก็คงจะส่งที่หน่วยงานต้นสังกัดนั้นพิจารณา คือ กลับไปที่ จิสด้า พิจารณาว่าจะตั้งกรรมการสอบวินัยหรือไม่ ซึ่งมีตัวอย่างหลายคดีมาแล้ว" ดร.ธีรพล กล่าว
สำหรับผลสอบกระบวนการจัดหาโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือ ธีออส 2 ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งขึ้น มี ศ.พิเศษ หิรัญ รดีศรี เป็นประธาน สรุปว่า ยังไม่พบประเด็นการทุจริต
ประเด็นการประเมินและให้คะแนนทางเทคนิค ยังอยู่ในกรอบของข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ที่วางไว้ใน ITB ส่วนประเด็นวงโคจรของดาวเทียมขนาดเล็กนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงวงโคจรของดาวเทียมขนาดเล็กที่ผิดไปจากข้อกำหนด
ประเด็นขั้นตอนการดำเนินงานของคณะกรรมการจัดหา ฯ พบว่าทุกขั้นตอนได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารจิสด้า ถือว่าเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรจิสด้า และก่อนการตรวจสอบมีการลงนามในสัญญาแล้ว คณะกรรมการจึงไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับความถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนในการปฏิบัติตามระเบียบ เนื่องจากได้ผ่านพ้นขั้นตอนที่อาจพิจารณาได้
สำหรับประเด็นผลประโยชน์ร่วมกันของ Mr. Andy Witt กับ Surrey Satellite Technology (UK) นั้น คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเอกสารที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่าไม่สามารถระบุความสัมพันธ์กันได้และยังไม่มีหลักฐานปรากฏ เนื่องจากมีเวลาในการตรวจสอบน้อยไป และบริษัท Surrey ฯ มีหนังสือยืนยันว่าไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน ซึ่งทางคณะกรรมการ ฯ ได้มีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบตามกฎหมายโดยตรงไปดำเนินการต่อตามที่เห็นสมควรในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปได้