กรุงเทพฯ--12 ต.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของ บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TASCO ที่ระดับ 'A-(tha)' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ 'F2(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ได้ประกาศยกเลิกอันดับเครดิตดังกล่าวของ TASCO ดังนั้นฟิทช์จะไม่ติดตามและวิเคราะห์อันดับเครดิตของบริษัทฯ ต่อไป
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ความเสี่ยงจากความไม่ต่อเนื่องของการจัดหาน้ำมันดิบ: ฟิทช์คิดว่าความเสี่ยงจากความไม่ต่อเนื่องของการจัดหาน้ำมันดิบของ TASCO นั้นจะยังคงอยู่ในระดับที่สูงในช่วง 12-24 เดือนข้างหน้า เนื่องจากโรงกลั่นยางมะตอยในประเทศมาเลเซียของบริษัทฯ ยังมีแนวโน้มที่จะพึ่งพาแหล่งน้ำมันดิบจากประเทศเวเนซุเอลาเป็นหลัก ฟิทช์เชื่อว่า TASCO จะยังคงต้องการซื้อน้ำมันดิบจากประเทศเวเนซุเอลามากกว่าแหล่งอื่น เนื่องจากเป็นน้ำมันดิบที่ให้อัตราผลตอบแทนที่สูง ตามที่บริษัทฯได้กล่าวไว้ แม้ว่า TASCO มีการศึกษาทางเลือกในการจัดหาแหล่งน้ำมันดิบอื่นๆด้วยเช่นกัน ฟิทช์ประมาณปริมาณการขายและอัตรากำไรของบริษัทฯ ในระดับที่ต่ำกว่าในอดีตเนื่องจากความเสี่ยงด้านความไม่ต่อเนื่องของการจัดหาน้ำมันดิบ
ผู้ขายน้ำมันให้กับ TASCO ซึ่งอยู่ในประเทศเวเนซุเอลา ประสบปัญหาด้านการดำเนินงาน การเงิน และข้อพิพาททางกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งจำกัดความสามารถในการจัดส่งน้ำมันดิบให้แก่ลูกค้า ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้เกิดการล่าช้าในการจัดส่งน้ำมันดิบให้กับ TASCO และส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 โดยในช่วงดังกล่าวน้ำมันดิบที่ TASCO ได้รับสำหรับโรงกลั่นยางมะตอยลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของระดับปกติ เป็นผลให้ปริมาณการขายยางมะตอยในต่างประเทศของบริษัทฯลดลงร้อยละ 51 สถานการณ์ดังกล่าวน่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 เนื่องจากการขนส่งน้ำมันดิบได้เริ่มคลี่คลายตัวในปลายเดือนกรกฎาคม 2561
อัตราส่วนกำไรที่ลดลง: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA margin) ของ TASCO จะลดลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 8 - 9 ในปี 2561-2562 จากร้อยละ 12 ในปี 2560 (ครึ่งปีแรกของปี 2561: ร้อยละ 9) เป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นและการหยุดชะงักของการรับน้ำมันดิบเป็นครั้งคราว TASCO อาจจำเป็นต้องซื้อยางมะตอยมาขายแทนที่จะผลิตเอง หรือต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากแหล่งอื่น ในกรณีที่มีการหยุดชะงักของการรับน้ำมันดิบจากประเทศเวเนซุเอลา ซึ่งทั้งสองกรณีจะสร้างอัตราส่วนกำไรที่ลดลง โดยฟิทช์คาดว่าราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเบรนท์จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 70 เหรียญต่อบาร์เรลในปี 2561 และ 65 เหรียญต่อบาร์เรลในปี 2562 จากราคาเฉลี่ยที่ประมาณ 55 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในปี 2560
อัตราส่วนเครดิตที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ของบริษัทฯ จะเพิ่มขึ้นชั่วคราวอยู่ที่ระดับ 2.3 เท่าในปี 2561 (ครึ่งปีแรกของปี 2561: 2.0 เท่า) และจะค่อยๆลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.8 เท่าในปี 2562 และประมาณ 1.1 เท่าในปี 2563 ด้วยสมมติฐานว่าจะไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อขยายกำลังการผลิตของโรงกลั่น อัตราส่วนหนี้สินฯที่สูงของบริษัทฯในปี 2561 เป็นผลมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่อ่อนแอลง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลกระทบมาจากความล่าช้าในการรับน้ำมันดิบ ฟิทช์คาดว่า TASCO จะเลื่อนแผนการลงทุนขยายกำลังการผลิตของโรงกลั่นออกไปจนกว่าจะมีแผนการบริหารความเสี่ยงจากการรับน้ำมันดิบที่ชัดเจน
ผู้นำตลาดในประเทศ: อันดับเครดิตของ TASCO ได้รับการสนับสนุนจากตำแหน่งผู้นำทางการตลาดในธุรกิจยางมะตอยของประเทศไทย TASCO ยังคงสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดในประเทศที่ประมาณร้อยละ 38 ตามข้อมูลของบริษัทฯ แม้ในช่วงที่บริษัทประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 นอกจากนี้ TASCO ยังมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม แม้ว่าปริมาณการขายในต่างประเทศจะลดลงอย่างมากจากการหยุดผลิตของโรงกลั่นของบริษัทฯ และความต้องการที่ลดลงในตลาดหลัก ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ฟิทช์คาดว่า TASCO จะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดไว้ได้และสามารถเพิ่มยอดขายหลังจากที่โรงกลั่นของบริษัทฯ กลับมาดำเนินการได้ตามปกติในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2561
ความสามารถในการแข่งขันของ TASCO ได้รับการสนับสนุนจากการที่บริษัทฯ มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายครอบคลุมสินค้าทั่วไปและสินค้าคุณภาพสูง มีขีดความสามารถสูงในการขนส่งและกระจายสินค้า โดยเป็นเจ้าของเรือบรรทุกสินค้าจำนวน 9 ลำ และรถบรรทุกอีกกว่า 300 คัน และมีความชำนาญการในด้านการก่อสร้างและซ่อมแซมถนน
การกระจายความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์: TASCO มีโรงงานผลิตมากกว่า 40 แห่ง ตั้งอยู่ใน 8 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งรวมถึงโรงกลั่นยางมะตอยที่มีกำลังการกลั่น 30,000 บาเรลต่อวัน ในประเทศมาเลเซียด้วย ยอดขายยางมะตอยในตลาดต่างประเทศของบริษัทฯ มีประมาณร้อยละ 65 ของการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางมะตอยในปี 2560 โดยประเทศหลักประกอบด้วย จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และ ออสเตรเลีย นอกจากนี้ ในช่วงปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังได้ขยายธุรกิจใน ลาว และ ฟิลิปินส์ ฟิทช์เชื่อว่าการกระจายตัวของรายได้ในหลากหลายประเทศจะช่วยให้กระแสเงินสดของบริษัทฯ มีความสม่ำเสมอมากขึ้น
ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน: TASCO ต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาวัตถุดิบซึ่งได้แก่น้ำมันดิบเป็นหลัก แม้ว่าราคาผลิตภัณฑ์ยางมะตอยจะมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นไม่มากนัก ระยะเวลาที่ใช้ในการขนส่งน้ำมันดิบจากอเมริกาใต้ไปยังโรงกลั่นในประเทศมาเลเซียยังทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างราคาสินค้าผลิตภัณฑ์ที่ออกจากโรงกลั่นกับราคาน้ำมันดิบ ณ เวลาที่ซื้อ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯได้ใช้เครื่องมือทางการเงินในการประกันความเสี่ยงเพื่อบรรเทาความเสี่ยงดังกล่าว โดยการเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อรักษาอัตราส่วนกำไรให้อยู่ในระดับเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ในระดับหนึ่ง
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
TASCO มีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่าบริษัทอื่นที่ฟิทช์ทำการจัดอันดับในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC, อันดับเครดิต A+(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และ บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) (SCCC, อันดับเครดิต A(tha) แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) และมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ต่อรายได้ (EBITDAR margin) ที่ต่ำกว่า นอกจากนี้ธุรกิจปูนซีเมนต์ยังช่วยให้ SCC และ SCCC มีรายได้และกำไรสม่ำเสมอกว่า และตลาดปูนซีเมนต์ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าที่กว้างขวางกว่าเมื่อเทียบกับธุรกิจยางมะตอยของ TASCO แม้ว่า SCC จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่มีความผันผวนในธุรกิจเคมีภัณฑ์ แต่ SCC มีสถานะทางธุรกิจและการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจที่ดีกว่า TASCO ด้วยสถานะทางธุรกิจที่ดีกว่าส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ทั้งสองรายมีอันดับเครดิตที่สูงกว่า TASCO
TASCO มีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่า บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC, อันดับเครดิต A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตโดยลำพัง ที่ BBB+(tha)) อย่างไรก็ตาม ธุรกิจของ TASCO มีเสถียรภาพมากกว่า สร้างอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่า และมีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่า ทำให้อันดับเครดิตของ TASCO อยู่สูงกว่าอันดับเครดิตโดยลำพังของ IRPC อันดับเครดิตระยะยาวของ IRPC ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับ เพื่อสะท้อนถึงความเชื่อมโยงกับบริษัทแม่ ได้แก่ บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิต AAA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ)
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
ปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางมะตอยลดลงในปี 2561 และฟื้นตัวในปี 2562 ก่อนที่จเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆหลังจากนั้น (2560: ลดลงร้อยละ 11)
รายได้ลดลงร้อยละ 13 - 15 ในปี 2561 และฟื้นตัวประมาณร้อยละ 8 - 10ในปี 2562 (2560: เติบโตร้อยละ 18)
อัตราส่วนกำไรขั้นต้นลดลงอยู่ในระดับร้อยละ 9 - 11 ในปี 2561 – 2562
อัตราการจ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับมากกว่าร้อยละ 60 ของกำไรสุทธิ ในปี 2561-2562
ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและเงินลงทุนอยู่ที่ระดับประมาณ 5 – 8 ร้อยล้านบาทต่อปี ในปี 2561 – 2562 โดยไม่มีการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติม
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ไม่มีเนื่องจากยกเลิกอันดับเครดิต
สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่สามารถบริหารได้: TASCO มีหนี้สินจำนวน 4.5 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2561 โดยหนี้สินจำนวน 4.4 พันล้านบาท เป็นหนี้ที่จะครบกำหนดชำระภายใน 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินสินเชื่อหมุนเวียนระยะสั้นของธนาคาร เพื่อสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทฯ สินค้าคงคลังของ TASCO ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 4.8 พันล้านบาทจากระดับ 3.9 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2560 สภาพคล่องของ TASCO ส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากเงินสดในมือจำนวนประมาณ 6.7 ร้อยล้านบาทและความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคารที่ดี