กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--สำนักวิจัยซูเปอร์โพล
สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ภูมิใจในความเป็นคนไทย
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) มูลนิธิ สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ภูมิใจในความเป็นคนไทย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,128 ตัวอย่าง โดยดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 5 – 12 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา พบว่า
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.7 ภูมิใจค่อนข้างมาก ถึง มากที่สุดที่ได้อยู่ประเทศไทย ในขณะที่ร้อยละ 7.3 ภูมิใจค่อนข้างน้อย ถึง ไม่ภูมิใจเลย และเมื่อถามว่า อะไรที่ทำให้ภูมิใจมากที่สุด พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 32.8 ระบุ บ้านเมืองสงบสุข รองลงมาคือร้อยละ 30.5 ระบุ ศาสนา วัฒนธรรม และสถาบันหลักของชาติ ร้อยละ 15.9 ระบุ อาหารไทย ร้อยละ 9.2 ระบุ แหล่งธรรมชาติ ที่พักผ่อนหย่อนใจ ร้อยละ 5.5 ระบุ น้ำใจไมตรี ช่วยเหลือกัน คนไทยด้วยกัน ร้อยละ 6.1 ระบุอื่นๆ ได้แก่ ความเจริญของพัฒนาเมือง การสื่อสาร คมนาคม รถไฟฟ้า สนามบินสุวรรณภูมิ สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงคำขอเพื่อประเทศไทย เพื่อคนไทย พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.5 ขอให้เศรษฐกิจดี มีกินมีใช้ไม่ขัดสน รองลงมาคือ ร้อยละ 67.3 ระบุ บ้านเมืองสงบสุข ไม่วุ่นวาย มีความปลอดภัยทุกด้าน ร้อยละ 58.2 ระบุ ขอให้ทุกคนรักกัน ทำดีเพื่อพ่อ ร้อยละ 54.1 ระบุ แก้ปัญหายาเสพติด อาชญากรรม ร้อยละ 53.6 ระบุ มีแหล่งธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดี ร้อยละ 41.9 ระบุ มีความสะดวกสบาย บ้านเมืองเจริญก้าวหน้า ร้อยละ 23.8 ระบุ อื่น ๆ เช่น คนไทยมีน้ำใจต่อกัน นักการเมืองเลิกทะเลาะกัน และความมีระเบียบวินัย เป็นต้น
เมื่อถามถึง ความตั้งใจทำดีเพื่อพ่อ น้อมรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.5 จะช่วยทำบ้านเมืองสงบสุข ไม่วุ่นวาย รองลงมาคือร้อยละ 69.9 ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ร้อยละ 68.1 ปกป้องเทิดทูนรักษา สถาบันหลักของชาติ ร้อยละ 56.2 มีน้ำใจ มีจิตอาสา ร้อยละ 52.3 เสียสละ ร้อยละ 48.5 มีวินัย ร้อยละ 45.7 ขยันหมั่นเพียร ทำงานหนัก ร้อยละ 44.1 ซื่อสัตย์สุจริต ไม่คดโกง ร้อยละ 42.8 ระบุ อดทนกับความยากลำบาก และร้อยละ 18.9 ระบุอื่นๆ เช่น กตัญญู มีคุณธรรม ดูแลชุมชน และบริจาคทำบุญ เป็นต้น
ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.6 มีความหวังที่จะก้าวต่อไปในอนาคต ในขณะที่ ร้อยละ 24.4 กลัวที่จะก้าวต่อในอนาคต