กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--มหาวิทยาลัยมหิดล
ในแต่ละวันเราทิ้งขยะพลาสติก กระดาษ ขวดแก้ว หรือกระป๋องน้ำอัดลม กันไปเท่าไหร่บ้าง? จากข้อมูลของ กรมควบคุมมลพิษ เมื่อปี 2559 ระบุว่า ปริมาณขยะโดยเฉลี่ยที่คนไทยผลิตขึ้น มีปริมาณสูงถึง 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน เลยทีเดียว และแนวโน้มของปริมาณขยะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่อัตราการจัดการขยะที่ถูกต้องและกระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ กลับมีเพียงเล็กน้อย ไม่เท่าทันกับปริมาณของขยะที่เพิ่มเป็นเท่าทวีคูณ
หลังจากประสบความสำเร็จในการดำเนิน "โครงการธนาคารขยะรีไซเคิล" กับกลุ่มบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลมาแล้ว ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน โดยตลอดระยะเวลา 9 ปี ที่ดำเนินโครงการมา มีปริมาณขยะรีไซเคิลที่สมาชิกนำมาฝากที่ธนาคารขยะ เป็นจำนวนถึง 1,920,891.98 กิโลกรัม คิดเป็นยอดเงินรับซื้อขยะรีไซเคิลจากสมาชิกเป็นจำนวนสูงถึง 10,173,818.03 บาท ดังนั้น มหาวิทยาลัยมหิดล จึงต้องการขยายผลและความสำเร็จ "โครงการธนาคารขยะรีไซเคิล" ไปสู่โรงเรียนในชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาขยะที่นับเป็นปัญหาระดับชาติ
โปรแกรมธนาคารขยะรีไซเคิลของมหาวิทยาลัยมหิดล ถูกพัฒนาขึ้นโดยกองเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อใช้ในการบริหารจัดการระบบธนาคารขยะรีไซเคิลภายในมหาวิทยาลัย ตัวโปรแกรมสามารถทำธุรกรรมได้คล้ายระบบธนาคารทั่วไป เช่น การสมัครสมาชิก การรับฝาก การถอนเงิน และสามารถรายงานสรุปการทำธุรกรรมของทุกขั้นตอนได้ ซึ่งทำให้การจัดเก็บข้อมูลเป็นเรื่องที่ง่าย รวดเร็ว และเชื่อถือได้
ก่อนหน้านี้ มีโรงเรียนเครือข่ายที่นำโปรแกรมของมหาวิทยาลัยมหิดลไปใช้แล้ว จำนวน 4 โรงเรียน โดยโรงเรียนเครือข่ายแห่งแรก คือ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มหามงคล ในปีถัดมาจึงมีเพิ่มเติมคือ โรงเรียนวัดมะเกลือ(กาญจนลักษณ์วิทยา) โรงเรียนวัดทรงคนอง และโรงเรียนวัดสุวรรณาราม สำหรับปี 2561 นี้ ได้เพิ่มเติมโรงเรียนเครือข่ายระดับมัธยมต้นเป็นครั้งแรก คือ โรงเรียนมัธยมปุรณาวาส เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ และโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย นครปฐม (พระตำหนักสวนกุหลาบมัธยม)
นายศุภรัตน์ แดนโคกสูง หรือ ครูเฟิร์ส ที่ปรึกษาสภานักเรียน โรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย นครปฐม (พระตำหนักสวนกุหลาบมัธยม) เล่าว่า "ก่อนหน้านี้ทางโรงเรียนก็พยายามทำโครงการด้านขยะอยู่ แต่ยังไม่เป็นรูปร่างเท่าไรนัก โดยให้นักเรียนรู้จักแยกขยะตามหมวดหมู่ แล้วให้ช่วยกันเก็บและนำไปขาย เพื่อสมทบทุนทำกิจกรรมกีฬาสี จนเมื่อประมาณ 2 เดือนที่แล้ว มหาวิทยาลัยมหิดลได้เข้ามาช่วยดำเนินโครงการธนาคารขยะรีไซเคิล ทั้งช่วยติดตั้งโปรแกรมธนาคารขยะ วางระบบ รวมถึงติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องเซิร์ฟเวอร์ สายแลนคอมพิวเตอร์ ตราชั่ง มีสมุดบัญชีคู่ฝากเพื่อให้สมาชิกถือติดตัว เพื่อที่จะได้เห็นยอดรายได้จากการขายขยะ อีกทั้งมีการฝึกอบรมวิธีการบริหารโครงการแก่ครูและนักเรียนที่ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการโครงการธนาคารขยะรีไซเคิล รวมถึงติดต่อร้านรับซื้อของเก่าให้เข้ามารับขยะถึงที่โรงเรียนด้วย จึงทำให้โครงการขยะของโรงเรียนเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาอย่างชัดเจน"
"ช่วงแรกๆ ที่เปิดรับสมัครสมาชิกมีคนสนใจแค่ 3-4 คนเอง แต่ผ่านมาไม่กี่เดือนก็มีมากถึง 50 กว่าบัญชีแล้ว ซึ่งสมุดบัญชี 1 เล่ม อาจมีเจ้าของบัญชีร่วมกันหลายคนได้ เราไม่บังคับว่าทุกคนต้องสมัครสมาชิก เพราะอยากให้เป็นไปตามความสมัครใจ จะได้มีแรงจูงใจ และไม่เป็นการสิ้นเปลืองสมุดบัญชีด้วย" ครูเฟิร์ส กล่าวเพิ่มเติม
เด็กหญิงจณิสตา นามพร (พั้นซ์) และ เด็กชายบุญยศักดิ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต (โฟล์ค) นักเรียนชั้น ม.1 ที่ร่วมเป็นจิตอาสาให้กับโครงการฯ และทำหน้าที่เป็นแผนกบันทึกข้อมูลการรับซื้อขยะต่างๆ เล่าถึงขยะที่ทางธนาคารได้รับซื้อว่า ขยะรีไซเคิลที่มีคนนำมาขายมากที่สุด คือ กระดาษเอสี่ ขวดพลาสติก ลังกระดาษ ขวดแก้ว กระป๋องอะลูมิเนียม ท่อพีวีซี รวมถึงน้ำมันที่ทอดอาหารแล้ว นอกจากนี้ ขยะบางอย่างถ้ามีการคัดแยกประเภทแล้วก็ยิ่งขายได้ราคาดี เช่น กระดาษสมุด เมื่อแยกปกและกระดาษขาวออกจากกัน จะมีราคาสูงกว่าแบบที่ไม่แยกปกแยกกระดาษ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้ง 2 คนได้รู้เพิ่มเติมเมื่อมาเป็นสมาชิกธนาคารขยะรีไซเคิล
"พั้นซ์และเพื่อนๆ รวมกลุ่มกัน 6 คน ช่วยกันเก็บขวดน้ำพลาสติก กระป๋องอะลูมิเนียม กระดาษเอสี่ กระดาษสมุด ที่มีในห้องเรียนและตามซุ้มต่างๆ รอบๆ โรงเรียนมาขาย รายได้ทั้งหมดจะหารเท่าๆ กันให้แต่ละคนได้เก็บไว้ใช้ต่อไปค่ะ เก็บขยะมีประโยชน์หลายอย่างค่ะ ได้ช่วยลดขยะในโรงเรียนและสังคม ได้รักษาความสะอาด และยังมีรายได้อีกด้วยค่ะ" น้องพั้นซ์เล่าอย่างสนุกสนาน
เมื่อถามถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กๆ และบุคลากรในโรงเรียน ครูเฟิร์ส เล่าว่า "เด็กๆ มีความตระหนักมากขึ้นจากที่เห็นเพื่อนมีรายได้ ซึ่งตอนแรกพวกเขาอาจจะมองว่าขายขยะแต่ละครั้งได้เงินไม่มากมายอะไร แต่เมื่อรวมกลุ่มกันมากขึ้น หรือสะสมมากขึ้น มูลค่าก็มากขึ้น สิ่งเหล่านี้ก็เป็นแรงจูงใจที่ดี ให้พวกเขาเห็นคุณค่าของการคัดแยกขยะ ส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวกด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี และสิ่งที่ประสบความสำเร็จเหนือความคาดหมาย คือ กลุ่มคุณครูที่ในกลุ่มสาระหมวดวิชาต่างๆ ซึ่งจะมีเอกสารกระดาษจำนวนมาก นำมาขายที่ธนาคารขยะแต่ละครั้งได้เงินเป็นหลักร้อยหลักพันเลยทีเดียว"
ดร.นพดล เด่นดวง ผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการโรงเรียนกาญจนาภิเษกวิทยาลัย นครปฐม (พระตำหนักสวนกุหลาบมัธยม) กล่าวว่า "ไม่ใช่แค่นักเรียนที่มีความเปลี่ยนแปลง แต่ยังรวมถึงบุคลากรในโรงเรียน ในการช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องขยะและสิ่งแวดล้อม โดยทุกคนจะตระหนักถึงปัญหาขยะและมีส่วนร่วมในการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ ซึ่งต่อไปผมมองว่า เมื่อโรงเรียนเป็นผู้สอนให้เด็กได้เรียนรู้และมีจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว เขาจะมีส่วนในการบอกต่อและเป็นเครือข่ายในระดับครอบครัวและสังคมต่อไป เหมือนอย่างที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้มาเป็นพี่เลี้ยงให้กับเรา เมื่อร่วมด้วยช่วยกันเป็นเครือข่ายสังคมที่มีคุณภาพมากขึ้น ก็จะช่วยแก้ปัญหาขยะในประเทศไทยให้ลดน้อยลงได้"
รองศาสตราจารย์ ดร. กิติกร จามรดุสิต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า "มหาวิทยาลัยมหิดล มีนโยบายส่งเสริมการสร้างมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศน์ (Eco University) ที่มีเป้าหมายชัดเจนของการสร้างให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ข้อ สหประชาติ (17 Sustainable Development Goals) ทั้งภายในมหาวิทยาลัยและชุมชนโดยรอบ ซึ่งโครงการธนาคารขยะรีไซเคิล ที่ดำเนินกับโรงเรียนเครือข่ายโดยมีเป้าหมายในการสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจให้เยาวชนตระหนักถึงปัญหาขยะในชุมชนและโรงเรียน มีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะ ทั้งการจัดเก็บ การแยกขยะ และการรีไซเคิลขยะ รวมถึงเกิดรายได้จากขยะ ซึ่งจากการติดตามและประเมินผล พบว่าทุกโรงเรียนล้วนต่างเห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรมชัดเจน"