กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เดินหน้าเสริมสร้างศักยภาพบัณฑิตไทยเทียบชั้นนานาชาติ รุดสร้างองค์ความรู้และทักษะรับยุคดิจิทัล 4.0 ตอกย้ำความสำเร็จงาน ไอเอสทีเอส 2018 ระดมมันสมองหัวกระทิ 5 ชาติ แก้โจทย์เพิ่มประสิทธิภาพกระตุ้นการเติบโตทางธุรกิจ พร้อมเผยผลงานออกแบบโมบายแอปพลิเคชันส่งเสริมการทำธุรกิจท่องเที่ยว จากทีมลมพระยา กลุ่ม 2 ได้รับรางวัลชนะเลิศรับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในยุคดิจิทัล ได้เข้ามามีบทบาทและอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของคนเราในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการดำเนินธุรกิจและกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วโลก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เรียกว่า "เทคโนโลยี ดิสรัปชั่น" ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องพลิกโฉมระบบการดำเนินงานตลอดจนรูปแบบการให้บริการขององค์กรธุรกิจ เพื่อให้เท่าทันการแข่งขันและตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคยุคใหม่ สจล. ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย จึงเห็นถึงความสำคัญในการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ให้มีความพร้อม ทั้งในด้านองค์ความรู้วิชาการและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น ถือเป็นสร้างโอกาสการแข่งขันและการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศให้ทัดเทียมนานาชาติได้ในอนาคต
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สจล. ได้เร่งพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ควบคู่ไปกับการเปิดหลักสูตรใหม่ให้สอดรับสถานการณ์และความต้องการของตลาดแรงงาน อาทิ หลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (สหวิทยาการ) วิศวกรรมระบบการผลิตขั้นสูง (นานาชาติ) การจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน (นานาชาติ) นวัตกรรมการจัดการอุตสาหกรรมการบินและการบริการ และนวัตกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ เป็นต้น ตลอดจนการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและองค์กรธุรกิจชั้นนำระดับโลก เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และบุคลากรระหว่างกัน โดยครั้งนี้ได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาแห่งชาติด้านเทคโนโลยีประเทศญี่ปุ่น (NIT หรือ KOSEN) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนะงะโอะกะ (NUT) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีโทโยฮาชิ (TUT) จัดการแข่งขันประกวดนวัตกรรมเพื่อธุรกิจระดับนักศึกษาขึ้นผ่าน "โครงการการจัดการประชุมนานาชาติ หรือ ไอเอสทีเอส 2018 (ISTS - International Seminar on Technology for Sustainability 2018)" ร่วมด้วย 5 องค์กรธุรกิจ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทเรือเร็วลมพระยา จำกัด บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด ออโต้เดสก์ และเอดับบลิวเอส เอ็ดดูเคชั่น ร่วมให้โจทย์ปัญหาทางธุรกิจแก่ผู้เข้าแข่งขัน
"กิจกรรมทางการศึกษา ไอเอสทีเอส 2018 เปิดโอกาสให้นักศึกษาทั่วโลกร่วมคิดค้นและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ตอบโจทย์ปัญหาทางธุรกิจ มุ่งเน้น 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ Smart Home & Smart City, Drone, Financial, Artificial Intelligence, Virtual Reality/Augmented Reality อันสอดรับกับสถานการณ์ในปัจุบันที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อองค์กรธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันยังช่วยให้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data ถูกนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบันจะพบว่าสถาบันทางการเงินต่างเร่งพัฒนาเทคโนโลยี สำหรับจัดการฐานข้อมูลให้การทำธุรกรรมสะดวกรวดเร็วและแม่นยำในเสี้ยววินาที โดยเฉพาะการพิจารณาสินเชื่อหากใครทำได้เร็วยิ่งได้เปรียบ ไม่ต่างจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็มีความตื่นตัวในการพัฒนาระบบตอบรับและรับจองให้รวดเร็วขึ้น หรือแม้กระทั่งการใช้เทคโนโลยีโลกกึ่งเสมือนจริง (AR) มาสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบใหม่เพิ่มอรรถรสและความประทับใจ เป็นต้น" ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าว
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไฮไลท์สำคัญคือการแข่งขันแก้ปัญหาในสถานการณ์เสมือนการทำงานจริง ผู้แข่งขันต้องร่วมกันวางแผนการจัดการเวลา การทำงานกับเพื่อนร่วมทีมต่างชาติ เพื่อแก้โจทย์ที่ได้มาจากภาคเอกชน ในรูปแบบแฮ็คคาธอน (Hackathon) ซึ่งเป็นการบูรณาการกิจกรรมแฮคกิ้ง (Hacking) และการประชุมเชิงปฏิบัติการทางเทคนิค (Technical workshops) แบบมาราธอน 7 วัน ภายใต้ธีม "Innovation Hackdiator: Solution for Sustainability Challenge" โดยมีนักศึกษาที่เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 30 ทีม จาก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย แต่ละทีมจะได้รับโจทย์ปัญหาทางธุรกิจจาก 5 องค์กรธุรกิจ ที่สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ประกอบด้วย 1. นวัตกรรมเพื่อธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ 2. ระบบแสดงผลข้อมูลสำหรับสิ่งแวดล้อม 3. แชทบอทปัญญาประดิษฐ์เพื่อบ้านอัจฉริยะ 4. เทคโนโลยีที่ทำให้กลยุทธ์การตลาดแบบเดิมๆ เปลี่ยนไป และ 5. โดรนเพื่อการบริหารจัดการแวร์เฮาส์ ทั้งนี้ สำหรับผลการแข่งขัน ทีมที่ชนะเลิศได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ ทีมลมพระยากลุ่ม 2 ผลงานออกแบบโมบายแอปพลิเคชันส่งเสริมการทำธุรกิจท่องเที่ยวที่สามารถให้บริการนักท่องเที่ยวจบภายในแอปฯเดียว ตั้งแต่การจองตั๋วจนถึงจบการเดินทาง ซึ่งทีมนี้มีสมาชิกเป็นนักศึกษาของ สจล. 2 คน คือ นางสาวพรรษชล ฉัตรอุทัย สาขาวิชาการจัดการวิศวกรรมและเทคโนโลยีนานาชาติ และนางสาวพัชรธัญ สุทธิชาติ จากสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ร่วมทีมอยู่ด้วย
ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ได้ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ตามที่ธนาคารได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรม NEXT Lab กับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา การสนับสนุนการจัดงาน ไอ เอส ที เอส ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวแรกและก้าวถัดไปที่ได้เริ่มทำภารกิจที่สำคัญในการส่งเสริมวิจัยด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งธนาคารในฐานะผู้สนับสนุนหลักมีความยินดี และประทับใจในความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหา การระดมความคิด วิธีการแก้ปัญหาในรูปแบบใหม่ ของผู้เข้าแข่งขัน ตลอดระยะเวลาการแข่งขัน 7 วัน 6 คืนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังได้เห็นความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายจนสำเร็จของนักศึกษาจาก 5 ประเทศ และ ความทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจของเหล่าพี่เลี้ยงที่มาจากหลากหลายประเทศ ซึ่งบุคคลคนเหล่านี้คือต้นแบบ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมของประเทศไปสู่ระดับสากล ตลอดจนนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ให้เกิดขึ้นเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวม
พิธีปิดและมอบรางวัลกิจกรรม ไอ เอส ที เอส 2018 จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพฯ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://ists2018.kmitl.ac.th