กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ (Long-Term Local-Currency Issuer Default Rating) ของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คแซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ที่ 'BBB' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของ DTAC ที่ 'AA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-Term Rating) ที่ 'F1+(tha)'
การประกาศคงอันดับเครดิตสะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่า DTAC น่าจะยังคงสามารถรักษาอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ถึงแม้ว่าสถานะทางการตลาดจะอ่อนแอลง ฟิทช์คาดว่า DTAC จะสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) ให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 2.5 เท่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งยังคงสอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบัน อย่างไรก็ตามฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิต หากความเสี่ยงทางธุรกิจของบริษัทเพิ่มขึ้นเนื่องจากสถานะทางการตลาดอ่อนแอลงมากกว่าที่ฟิทช์คาดการณ์ไว้
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
กระแสเงินสดที่ยังคงแข็งแกร่ง: ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (Fund Flows from Operations) ของ DTAC จะลดลงในปี 2561 และ 2562 แต่ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ประมาณ 2.5-2.7 หมื่นล้านบาทต่อปี (ปี 2560: 2.9 หมื่นล้านบาท) และสำหรับอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ต่อรายได้ (EBITDA Margin) จะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 34-36 (ปี 2560: ร้อยละ 38) เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นที่จ่ายให้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT สำหรับการใช้คลื่นความถี่ 2.3GHz และค่าเช่าอุปกรณ์ที่จ่ายให้ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นน่าจะมากกว่าค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้ภาครัฐที่ลดลงจากการให้บริการภายใต้ใบอนุญาต และค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่ลดลง ในปี 2561
สถานะทางการตลาดที่อ่อนแอลง: DTAC กำลังเผชิญกับความท้าทายในการแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดกลับมา และรักษากำไรไม่ให้ปรับตัวลดลง ส่วนแบ่งทางการตลาดของ DTAC ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง และความเสียเปรียบด้านความครอบคลุมของเครือข่าย และได้กลายเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับที่ 3 หลังจากส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TrueMobile สูงกว่า DTAC ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 เป็นต้นมา ฟิทช์คาดว่าส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการของ DTAC จะปรับตัวมาอยู่ที่ร้อยละ 23-24 ในปี 2561 จากร้อยละ 25 ในปี 2560
ความต้องการคลื่นความถี่เพิ่ม: ฟิทช์เชื่อว่า DTAC ต้องการคลื่นความถี่เพิ่มเติมในช่วง 2 ปีข้างหน้า นอกเหนือจากคลื่นความถี่ 2.3GHz ที่บริษัทเข้าทำสัญญากับ TOT และคลื่นความถี่ 1.8GHz ที่บริษัทชนะการประมูลในเดือนสิงหาคม 2561 คลื่นความถี่ที่ DTAC ใช้ในการให้บริการมีความเสียเปรียบคู่แข่ง เนื่องจากบริษัทไม่มีคลื่นความถี่ต่ำ บริษัทมีคลื่นความถี่ในการให้บริการจำนวนมาก แต่ทั้งหมดเป็นคลื่นความถี่สูง ซึ่งได้แก่ คลื่นความถี่ 1.8GHz, 2.1GHz และ 2.3GHz ซึ่งเหมาะในการให้บริการในเมือง ฟิทช์เชื่อว่า DTAC ต้องการคลื่นความถี่ 900MHz ในการเพิ่มคุณภาพการให้บริการในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งน่าจะช่วยให้ส่วนแบ่งทางการตลาด และรายได้จากการให้บริการลดลงในอัตราที่ช้าลง
สถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง: FFO-Adjusted Net Leverage ของ DTAC น่าจะยังคงอยู่ในระดับประมาณ 1.5-2.0 เท่าในปี 2561 และ 2562 เนื่องจากเงินลงทุนในโครงข่าย และค่าคลื่นความถี่ ที่ลดลง ฟิทช์มองว่าอัตราส่วนหนี้สินของ DTAC ที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำในปัจจุบัน น่าจะทำให้บริษัทมีความคล่องตัวด้านการเงินสำหรับการลงทุนเพิ่มเติมในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตามฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิตหาก FFO-Adjusted Net Leverage อยู่ในระดับสูงกว่า 2.5 เท่าเนื่องจากบริษัทมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนในคลื่นความถี่สูงกว่าที่ฟิทช์คาดไว้อย่างมีนัยสำคัญ
ความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้นใหญ่: ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology) ฟิทช์จัดอันดับเครดิตของ DTAC โดยเริ่มจากการพิจารณาอันดับเครดิตของ DTAC โดยลำพัง (Standalone Rating) แล้วจึงพิจารณาถึงปัจจัยเสริมจากความสัมพันธ์ดังกล่าว (Bottom-Up Approach) โดยฟิทช์ได้ให้อันดับเครดิตเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิต Standalone ของ DTAC เพื่อสะท้อนถึงความเกี่ยวเนื่องในระดับปานกลางระหว่าง DTAC กับ Telenor โดย Telenor มีอำนาจควบคุมคณะกรรมการและผู้บริหารของ DTAC ดังนั้นหากมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นของ Telenor หรือความสัมพันธ์กับ DTAC ฟิทช์จะทำการพิจารณาความสัมพันธ์และการสนับสนุนดังกล่าวจาก Telenor ใหม่อีกครั้ง
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
อันดับเครดิตของ DTAC สะท้อนถึงสถานะทางการตลาดในฐานะผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับที่ 3 ของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามรายได้จากการให้บริการที่ร้อยละ 24 ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 ซึ่งใกล้เคียงกับผู้ให้บริการอันดับที่ 2 ซึ่งได้แก่ True Mobile (ส่วนทางการตลาดตามรายได้การให้บริการร้อยละ 28) และอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำที่ประมาณ 1.5-2.5 เท่า DTAC มีอันดับเครดิตต่ำกว่า AIS เนื่องจาก AIS มีขนาดรายได้ที่ใหญ่กว่า มีอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ที่สูงกว่า DTAC และมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่สูงกว่าที่ร้อยละ 49 ในครึ่งปีแรกของปี 2561
อันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของ DTAC อยู่ในระดับเดียวกันกับ Globe Telecom, Inc. หรือ Globe ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายใหญ่อันดับที่ 2 ของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ 'BBB-' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ เนื่องจากบริษัททั้งสองมีรายได้อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ถึงแม้ว่า Globe จะมีอัตตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า DTAC แต่สถานะทางธุรกิจของ Globe แข็งแกร่งกว่า DTAC เนื่องจาก Globe มีบริการโทรคมนาคมที่หลากหลายกว่า และการแข่งขันที่รุนแรงน้อยกว่าในตลาดโทรคมนาคมของประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งมีผู้ให้บริการรายใหญ่เพียงสองราย
Bharti Airtel Limited หรือ Bharti ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมในประเทศอินเดีย มีอันดับเครดิตที่ 'BBB-' โดยทั้ง DTAC และ Bharti มีอัตราส่วนหนี้สินที่ใกล้เคียงกัน แต่ Bharti มีการกระจายตัวของรายได้ที่ดีกว่า และมีขนาดที่ใหญ่กว่า DTAC อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตของ Bharti ถูกลดทอนจากการแข่งขันที่รุนแรงในประเทศอินเดีย
สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- รายได้จากการให้บริการปรับตัวลดลงในปี 2561 และ 2562 ร้อยละ 2-3 (ปี 2560: รายได้คงที่)
- EBITDA margin ที่ร้อยละ 34-36 ในปี 2561 และ 2562 (2560: ร้อยละ 38)
- เงินลงทุนในการขยายโครงข่ายอยู่ที่ 1.8-2.0 หมื่นล้านบาทต่อปี ในปี 2561 และ 2562 (2560: 2 หมื่นล้านบาท)
- จ่ายเงินปันผลร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งให้มีการปรับเพิ่มอันดับเครดิต
- การปรับตัวเพิ่มขึ้นของ EBITDAR Margin ไปอยู่ในระดับสูงกว่า 40% อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อัตราส่วน FFO- Adjusted Net Leverage ในระดับต่ำกว่า 1.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง
- ส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ปัจจัยที่อาจส่งผลให้มีการปรับลดอันดับเครดิต
- การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วน FFO- Adjusted Net Leverage Ratio สูงกว่า 2.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง
- สถานะทางการตลาดที่อ่อนแอลงซึ่งส่งผลให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานและกระแสเงินสดสุทธิอ่อนแอลง
- การเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย หรือกฎระเบียบของกิจการโทรคมนาคมที่ส่งผลในแง่ลบต่อบริษัท
- ความสัมพันธ์ระหว่าง DTAC และ Telenor ที่ลดลง
สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: ฟิทช์มองว่า DTAC มีสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากเงินสดที่อยู่ในระดับสูง จำนวน 2.6 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2560 กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง และความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ บริษัทมีหนี้ที่กำหนดชำระในอีก 12 เดือน ข้างหน้าในระดับต่ำที่ 2 พันล้านบาท