กรุงเทพฯ--4 ม.ค.--กทม.
เริ่มศักราช 2551 ด้วยการติดตามผลความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบายการบริหารกรุงเทพมหานคร 6 ด้าน เร่งแผนบูรณาการพัฒนาร่วมกับปริมณฑล จัดตั้งสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจกรุงเทพมหานครและสถาบันวิจัยและพัฒนากรุงเทพมหานคร เพื่อพัฒนาร่วมกันอย่างครอบคลุม และเน้นนโยบายพัฒนาบุคลากรกทม.
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ว่า ในการประชุมครั้งแรกของปี 2551 นี้ได้มีการรายงานสรุปโครงการ 8 เรื่องที่กรุงเทพมหานครดำเนินการ โดยรายงานความก้าวหน้า ผลสำเร็จของโครงการ และการติดตามภารกิจต่างๆ ตามโครงการ โดยสรุปได้ 3 ประเด็นหลัก คือ
ประเด็นแรกกรุงเทพมหานครได้กำหนดนโยบายร่วมกับรัฐบาลในการตั้งคณะกรรมการศึกษาพัฒนามหานครแบบบูรณาการ โดยกรุงเทพมหานคร ร่วมกับจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ในกรอบความร่วมมือ 3 ด้าน คือ ด้านการพัฒนาเมือง เช่น โครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนา ทั้งระบบสาธารณูปโภค ถนน ระบบขนส่งมวลชน การป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ด้านการพัฒนาส่งเสริมเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกันกับจังหวัดใกล้เคียงให้เกิดการพัฒนาไปด้วยกัน และด้านการพัฒนาคน โดยสนับสนุนด้านการศึกษา สุขภาพ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรต่างๆ ทั้งนี้ได้มีแนวคิดการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจกรุงเทพมหานคร (Bangkok Economic Development Agency) ร่วมกันกับสำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงาน กพร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เน้นการส่งเสริมเศรษฐกิจ ภายใต้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้มีกองทุนส่งพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง การส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ตามนโยบายเสน่ห์กรุงเทพฯ 5 ด้าน โดยเน้นตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวคุณภาพที่กระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวม และการส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ การสร้างตราสินค้าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในกรุงเทพมหานคร การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การขยายช่องทางการจำหน่าย ตลอดจนการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนากรุงเทพมหานครที่ศึกษาการทำงานแบบบูรณาการในการพัฒนาเมืองครอบคลุมทุกด้าน
ประเด็นที่สองมีการติดตามโครงการสำคัญตามนโยบายการบริหารกรุงเทพมหานคร 6 ด้าน ประกอบด้วย เมืองแห่งความปลอดภัย มหานครแห่งสิ่งแวดล้อม มหานครแห่งการเรียนรู้ เมืองสุขภาพดีผู้คนมีความสุข มหานครเปี่ยมเสน่ห์ และเมืองแห่งความพอเพียง
และประเด็นสุดท้ายได้เพิ่มนโยบายสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากร โดยการดูแลสวัสดิการต่างๆ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการทำงาน การบริหารจัดการโดยมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพและความสามารถควบคู่กับขวัญกำลังใจ รวมถึงการส่งเสริมภาพลักษณ์ของกรุงเทพมหานครในความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ นักศึกษาในความต้องการเข้ามาทำงานกับกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้มอบให้สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผลไปศึกษาและนำเสนอรายละเอียดสำหรับนโยบายนี้เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติโดยเร็ว