กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
สพฉ.เผยวิธีวิ่งออกกำลังกายอย่างปลอดภัย ระบุควรควรตรวจสุขภาพและประเมินศักยภาพของตนเองก่อนวิ่งเพื่อหาโรคกลุ่มเสี่ยงอาทิ โรคหัวใจ หอบหืด เบาหวาน ความดัน ชี้ผู้ป่วยในกลุ่มโรคหัวใจน่ากลัวสุดควรระมัดระวังเพราะการวิ่งอย่างหักโหมอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้ พร้อมแนะแนวทางก่อนวิ่ง ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มน้ำให้เพียงพอ
วันหยุดยาวนี้หลายท่านที่ไม่เดินทางออกไปท่องเที่ยว อาจจะใช้เวลาว่างในการออกกำลังกาย โดยวันนี้นี้ นพ.ไพโรจน์ บุญศิริชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้ออกมาแนะนำในการออกกำลังกายด้วยการวิ่งอย่างปลอดภัยว่า ตนของแบ่งการวิ่งให้ปลอดภัยออกเป็น 2 กรณีคือ กรณีที่หนึ่งคือการวิ่งออกกำลังกายบนท้องถนนทั่วไป ที่ไม่ใช่งานวิ่งตามเทศกาลที่เขาจัดขึ้นตามงานต่างๆ ซึ่งการวิ่งบนท้องถนนหรือตามข้างทางที่ไม่ใช่สนามวิ่งหรืองานเทศกาลต่างๆ ทางด้านสภาพแวดล้อมในการวิ่งผู้วิ่งควรจะต้องประเมินความปลอดภัยของสภาพแวดล้อมเป็นอันดับแรกโดยไม่ควรใส่หูฟังเพื่อฟังเพลงในขณะวิ่งเพราะจะทำให้เราไม่ได้ยินเสียงจากสภาพแวดล้อมรอบตัวเราที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้เช่นเสียแตรรถยนต์ เสียงรถที่อาจจะทำให้เราเกิดอุบัติเหตุ และหากวิ่งตอนกลางคืนผู้วิ่งควรใส่เสื้อสะท้อนแสงหรือเสื้อสีสว่างที่จะทำให้รถยนต์หรือคนอื่นๆเห็นผู้วิ่งได้ชัดเจน และที่สำคัญคือควรพกบัตรประจำตัวประชาชนและบัตรผู้ป่วยที่บอกโรคประจำตัวของเราอย่างชัดเจนพร้อมทั้งพกโทรศัพท์และเบอร์คนที่ผู้พบเห็นสามารถติดต่อได้อย่างรวดเร็วหากเกิดเหตุไม่คาดฝันกับเราได้
รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวถึงกรณีที่สองคือการวิ่งมาราธอนหรือการวิ่งระยะยาวในสนามต่างๆ ซึ่งการวิ่งมาราธอนนั้นหรือการวิ่งระยะยาวในสนามต่างๆ นั้น เป็นการวิ่งที่ผู้วิ่งต้องใช้ความแข็งแรงและความทนทานของกล้ามเนื้อ รวมถึงระบบหัวใจและหลอดเลือด เพราะการวิ่งในลักษณะนี้จะต้องใช้พลังงานในการวิ่งอย่างมากและต้องเคลื่อนไหวร่างกายอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผู้ที่จะออกกำลังกายด้วยการวิ่งมาราธอนนั้นจะต้องมีการเตรียมตัวให้ดีโดยต้องประเมินสุขภาพของตนเองก่อนวิ่งเป็นอันดับแรกและหากเรายังไม่แน่ใจว่าร่างกายของเราพร้อมกับการวิ่งหรือไม่เราควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจสุขภาพว่าเราไม่ได้เป็นโรคที่เสี่ยงต่อการออกกำลังกายด้วยการวิ่งเช่นโรคที่เกี่ยวกับการทำงานของหัวใจอาทิโรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคกล้ามเนื้อหัวใจโต หรือ โรคความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด เบาหวาน และโรคที่เกี่ยวกับกระดูกหรือข้อ ซึ่งโรคต่างๆ เหล่านี้ไม่ควรออกกำลังกายด้วยการวิ่งมาราธอนหรือการวิ่งในสนามระยะยาว โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มโรคหัวใจอาจะทำเกิดภาวะหัวใจวายได้
นพ.ไพโรจน์กล่าวเพิ่มเติมว่าถึงข้อแนะนำในการปฏิบัติก่อนทำการวิ่งด้วยว่า สำหรับผู้ที่ปรึกษาแพทย์และตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอแล้วว่าตนเองไม่ได้อยู่ในโรคกลุ่มเสี่ยงต่อการออกกำลังกายด้วยการวิ่งการปฏิบัติตัวก่อนทำการวิ่ง ผู้วิ่งต้องควรจะต้องมีการอบอุ่นร่างกายและยืดเหยียดกล้ามเนื้ออย่างเพียงพอ งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนการวิ่ง รับประทานอาหารก่อนการวิ่งล่วงหน้า 1-2 ชั่วโมง ควรดื่มน้ำให้เพียงพอก่อนออกกำลังกาย 30 นาที เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ แต่ที่สำคัญคือไม่ควรดื่มมากจนเกินไปเพราะอาจทำให้ระดับเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติและเกิดอาการสมองบวมตามมาได้ นอกจากนี้ในระหว่างวิ่งผู้วิ่งควรสังเกตปริมาณและสีของปัสสาวะ หากปัสสาวะน้อยและสีเข้มขึ้นแสดงว่าร่างกายยังขาดน้ำ ควรดื่มน้ำเพิ่ม แต่ถ้าปัสสาวะมาก สีจางใส และบ่อยกว่าปกติ มีอาการเวียนศีรษะ มึนงง อาจเป็นการแสดงว่าร่างกายได้รับน้ำมากจนเกินพอแล้ว และที่สำคัญที่สุดหากผู้วิ่งมีอาการหน้ามืดหรือมีอาการเจ็บหน้าอกให้หยุดวิ่งและควรรีบพบแพทย์สนามที่ผู้จัดงานวิ่งได้จัดเตรียมไว้ทันที