กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--อเกต คอมมิวนิเคชั่น
บมจ.ปิโก (ไทยแลนด์) พร้อมสนับสนุน "ครู" ในโลกที่เทคโนโลยีพัฒนา อย่างก้าวกระโดด ร่วมมือกับพันธมิตรทางการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เปิดงาน EDUCA 2018 มหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ครั้งที่ 11 ภายใต้แนวคิด "Value of Teachers" ซึ่งจัดขึ้นเป็นระยะเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันพุธที่ 17 – วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม 2561 ณ อาคาร อิมแพ็ค ฟอรั่ม อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากต่างประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อช่วยพัฒนาวิชาชีพครู โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ กิตติคุณ สุมน อมรวิวัฒน์ ราชบัณฑิตเป็นประธานในพิธี และศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ
นายศีลชัย เกียรติภาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ในฐานะ ผู้จัดงาน มหกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ครั้งที่ 11 หรือ EDUCA 2018 เผยถึงวัตถุประสงค์การ จัดงานครั้งนี้ว่า EDUCA ให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูในระบบเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกว่า 10 ปี เพราะตระหนักว่า "ครู" คือ ผู้ให้ ผู้นำ และผู้หล่อหลอมอนาคตของประเทศชาติ ในปี 2561 นี้ EDUCA ตั้งใจจัดงานขึ้นภายใต้แนวคิด Value of Teachers : คุณค่าของครู มุ่งหวังกระตุ้นสังคมให้ตระหนักถึง "คุณค่าของครู" ท่ามกลางกระแสโลกดิจิทัลที่ท้าทาย และบทบาทอันยิ่งใหญ่ของครู ที่จะเตรียมเด็กไทยให้พร้อมสำหรับอนาคต ที่กำลังเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืน
การจัดงาน EDUCA ในปีนี้ โดยเราได้รับความร่วมมือจาก คุรุสภา, สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) อีกทั้ง สถานเอกอัครราชทูต และองค์กรทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น นิวซีแลนด์, ฟินแลนด์, ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ ที่จะมาร่วมแบ่งปันองค์ความรู้ใหม่ๆ ภายใต้ประเด็นเนื้อหาที่ครอบคลุมการพัฒนาการศึกษาและพัฒนาครู" นายศีลชัย กล่าว
สำหรับกิจกรรมภายในงาน EDUCA 2018 หรือ มหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ครั้งที่ 11 เตรียมเปิดมุมมองการเรียนรู้ และอัปเดตความเคลื่อนไหวในวงการศึกษาระดับนานาชาติ โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษา นักวิจัยทางการศึกษา และนักการศึกษาระดับนานาชาติจากประเทศชั้นนำทางการศึกษาที่จะมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ในการประชุมนานาชาติ (International Conference) อาทิ Lynne Lawrence จากเนเธอร์แลนด์ ในหัวข้อ "ครูในโลกอนาคต คือผู้มีพลังสร้างสรรค์ที่จะนำความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่มาสู่ผู้เรียน" Sanna Vahtivuori-Hanninen ในหัวข้อ "สิ่งแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ใหม่และการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล : การพัฒนาโครงการด้านการศึกษาของรัฐบาลฟินแลนด์ 2558-2562" Professor Jari Lavonen, Ph.D. ในหัวข้อ "ครูฟินแลนด์และโรงเรียนจะเรียนรู้และสนับสนุนการใช้เครื่องมือดิจิทัลและสิ่งแวดล้อมในการเรียนการสอนได้อย่างไร" Camilla Phyllis Highfield, Ph.D. จากนิวซีแลนด์ ในหัวข้อน่าสนใจเพื่อเผยว่า "ทำไมความร่วมมือรวมพลังของครูจึงสำคัญในชุมชนแห่งการเรียนรู้นิวซีแลนด์" Makito YURITA, Ph.D. จากญี่ปุ่น ในหัวข้อ "บทบาทและความท้าทายของจริยศึกษาในญี่ปุ่น การสอนในโลก VUCA" และ Professor Bae, Sang Hoon, Ph.D. จากสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ในหัวข้อ "สอนอย่างไรท่ามกลางยุคแห่งความไม่แน่นอน"
ฟอรั่มครูใหญ่ (Principal Forum) กับการบรรยายเรื่อง Beyond Schooling: แพลทฟอร์มการเรียนรู้เตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 โดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น
การประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) กว่า 175 หัวข้อย่อย ภายใต้กรอบ 7 เรื่องสำคัญ ได้แก่ Teacher Identity : บ่มเพาะความเป็นครู, Curriculum and Pedagogy : เครื่องมือของครู เพื่อการเรียนรู้ของเด็ก, Teacher & New Literacy: ครูกับเขตแดนใหม่แห่งการเรียนรู้ (ความรู้รอบตัว), Teacher & Professional Development : ครูกับการพัฒนาวิชาชีพ, Teacher & Society : ครูในสายตาของสังคม, New Wave & Innovation : คนรุ่นใหม่กับการศึกษา และ Special Seminar : สัมมนาพิเศษจากประเทศชั้นนำทางการศึกษา
เชิญร่วมอัปเดตองค์ความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพความเป็น "ครู" ในงาน EDUCA 2018 หรือ มหกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ครั้งที่ 11 ภายใต้แนวคิด "Value of Teachers : คุณค่าของครู" ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ได้ตลอด 3 วัน ตั้งแต่วันพุธที่ 17 – วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม 2561 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.educathai.com และ www.facebook.com/educathai/