กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา (สคร.12 สงขลา) ได้รับรายงานพบผู้เสียชีวิตโรคพิษสุนัขบ้าจำนวน 1 ราย ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ซึ่งมีประวัติถูกสุนัขจรจัดกัด อีกทั้งยังไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนฯ สคร.12 สงขลา ย้ำ สุนัข แมว กัดข่วน หรือเลียบาดแผล อย่าชะล่าใจ ควรรีบพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยเร็ว
ดร.นายแพทย์สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายน 2561 ของพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 3 ราย ในจังหวัด สงขลา พัทลุง และตรัง และเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2561 สคร.12 สงขลาได้รับรายงาน พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มอีก 1 ราย เป็นเพศชาย อายุ 65 ปี ณ หมู่ที่ 6 บ้านหูแร่ ตำบลทุ่งตำเสา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีประวัติถูกสุนัขจรจัดกัดบริเวณข้อมือด้านซ้าย และไม่ทราบประวัติการฉีดวัคซีนฯ โดยก่อนเสียชีวิตได้เข้ารับการรักษาด้วยอาการแน่นหน้าอก กลืนลำบาก ทั้งนี้ในบ้านของผู้เสียชีวิตยังเลี้ยงสุนัขกว่า 60 ตัว โดยสุนัขที่เลี้ยงไม่ได้รับการฉีดวัคซีนครบทุกตัว อีกทั้งในพื้นที่ตำบลทุ่งตำเสา มีการพบหัวสุนัขติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจำนวน 2 หัว ในระหว่างเดือนมิถุนายนและสิงหาคม 2561 กอปรกับผู้เสียชีวิตยังมีพฤติกรรมให้อาหารแก่สุนัขจรจัดเป็นประจำ ฉะนั้น จึงขอแนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการให้อาหารแก่สุนัขจรจัด หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ให้อาหารสุนัขจรจัดจะต้องไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
อย่างไรก็ตาม สคร.12 สงขลา ก็มิได้นิ่งนอนใจ โดยได้ร่วมค้นหาผู้สัมผัสเพิ่มเติม และให้ผู้สัมผัสทุกรายไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า นอกจากนี้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสงขลา ยังได้ดำเนินการฉีดวัคซีนฯในสัตว์ในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบบ้านผู้ป่วย รวมถึงได้จัดตั้งระบบเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าในคนและสัตว์ ดร.นายแพทย์สุวิช กล่าว
สำหรับโรคพิษสุนัขบ้านั้น เกิดจากเชื้อไวรัสเรบี่ส์ (Rabies Virus) เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีรอยแผล รอยข่วน หรือน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้าเข้าตา ปาก จมูก สัตว์ที่เป็นตัวนำโรคที่สำคัญ คือ สุนัข แมว และอาจพบในสัตว์อื่นๆ เช่น กระรอก กระแต กระต่าย ชะนี หนู ลิง เป็นต้น อาการเริ่มแรกของผู้ป่วย คือปวดศีรษะ มีไข้ต่ำๆ เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ต่อมามีอาการคัน มักเริ่มจากบริเวณแผลที่ถูกกัด แสบๆ ร้อนๆ แล้วลามไปส่วนอื่น นอกจากนี้จะมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสงกลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง มีอาการกลืนลำบาก ทำให้ไม่อยาก ดื่มน้ำ มีอาการกลัวน้ำ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออกหรืออาจชักเกร็ง อัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตภายใน 2 – 7 วันนับจากวันเริ่มแสดงอาการ
ดร.นายแพทย์สุวิช กล่าวต่อไปว่า สคร.12 สงขลา ขอแนะนำประชาชนหากถูกสุนัข แมวกัด ข่วน หรือเลียบาดแผล อย่าชะล่าใจ ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆ ครั้ง นานประมาณ 10 นาที และใส่ยาเบตาดีน เพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จากนั้นให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อวินิจฉัยและรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หรือประชาชนที่เคยถูกสัตว์เลี้ยงกัดข่วนนานแล้ว โดยเฉพาะในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา หากยังไม่ได้ไปฉีดวัคซีนฯ ขอให้ไปปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยโดยเร็ว เนื่องจากระยะฟักตัวของโรค ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนมีอาการป่วยอาจสั้นมาก ตั้งแต่ 1 สัปดาห์หรืออาจนานถึง 1 ปีได้ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสุนัขและแมวควรนำไปฉีดวัคซีนฯ ทุกตัว จะช่วยป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ได้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422