กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
นายพรเลิศ ลัธธนันท์ ประธานกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ที่ผ่านมา สำนักงานป.ป.ช. ได้ประกาศผลคะแนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment:ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 อย่างเป็นทางการแล้ว โดยในปี 2561 หน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมการประเมิน รวมทั้งสิ้น 426 หน่วยงาน เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจำนวน 54 หน่วยงาน
โดยปี 2561 พบว่าธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ได้คะแนนสูงถึง 93.24 ซึ่งสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2557 ธนาคารไม่เคยได้รับผลประเมินถึง 80 แม้แต่ครั้งเดียว ปีนี้นอกจากคะแนนที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 9 แห่ง ไอแบงก์อยู่อันดับที่ 4 ขยับขึ้นจากอันดับสุดท้ายในปีที่ผ่านมา ส่วนในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้ง 54 แห่ง ปีนี้ไอแบงก์จัดอยู่อันดับที่ 5 ก้าวจากรองอันดับสุดท้ายในปีที่ผ่านมา และภายในหน่วยงานภาครัฐทั้ง 426 แห่ง ไอแบงก์จัดอยู่ในอันดับที่ 13 ไต่จากอันดับที่ 407 ของหน่วยงานภาครัฐทั้ง 422 แห่งในปีที่ผ่านมา
ต้องยอมรับว่าพวกเราทำงานหนักมาก เพื่อยกระดับไอแบงก์ ในด้านคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน ตั้งแต่การบริหารงานของผู้บริหารและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงาน ตลอดจนประเมิน ระบบงาน โดยเฉพาะกระบวนการเปิดเผยข้อมูล กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่มีความโปร่งใส รวมถึงขั้นตอนและกระบวนการการปฏิบัติงานและการให้บริการที่มีมาตรฐานและความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ตลอดจนมีลักษณะที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล รวมไปจนถึงการประเมิน "วัฒนธรรม" ในหน่วยงานที่มุ่งเน้นการสร้างเสริมวัฒนธรรมและค่านิยมสุจริต และประเมินแนวทางในการป้องกันการทุจริตและการป้องกันการปฏิบัติงานที่อาจจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ตลอดจนประเมินผลการปฏิบัติงานในภาพรวมที่สะท้อนได้จากการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก
ไอแบงก์ ประกาศเจตจำนงอย่างเป็นทางการไปแล้วถึงการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ เราต้องการสร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งความโปร่งใสมีคุณธรรม ยึดมั่นนโยบาย "ไอแบงก์ ปลอดทุจริต 100%" จากผลคะแนนดังกล่าว ถึงจะไม่ได้เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงการทุจริต หรือการกระทำผิดของไอแบงก์ก็ตาม แต่ถือเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่าเราได้มีการปรับปรุง พัฒนา และสามารถยกระดับสู่การมีคุณธรรม ความโปร่งใส และการมีธรรมาภิบาลที่ดี นายพรเลิศ กล่าวทิ้งท้าย