กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดกิจกรรมวันการจัดการภัยพิบัติอาเซียน และวันลดภัยพิบัติสากล ภายใต้แนวคิด "ร่วมมือ ร่วมใจสู่อาเซียนที่ปลอดภัย : บทเรียนสู่การพัฒนา" ในวันที่ 18 ตุลาคม 2561 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติ ในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงเป็นการเสริมสร้างการเรียนรู้และความตระหนักด้านการจัดการภัยพิบัติ อันจะนำไปสู่ การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยอย่างยั่งยืน
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Committee on Disaster Management : ACDM) ได้กำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปีเป็น "วันจัดการภัยพิบัติอาเซียน" (ASEAN Day for Disaster Management : ADDM) ซึ่งตรงกับวันลด ภัยพิบัติสากล (International Day for Disaster Risk Reduction, IDDR) ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อสร้างความตระหนักและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการภัยพิบัติอย่างเข้มแข็ง สำหรับในปี พ.ศ.2561 กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย ในฐานะผู้ประสานงานหลักของประเทศไทยในคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติได้ร่วมกับสภากาชาดไทย สำนักงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNISDR) Thai PBS และหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมวันการจัดการภัยพิบัติอาเซียน และวันลดภัยพิบัติสากล ในวันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม 2561 ณ ห้อง Grand Ballroom โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ภายใต้แนวคิด "ร่วมมือ ร่วมใจสู่อาเซียนที่ปลอดภัย : บทเรียนสู่การพัฒนา" กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การอ่านสารจากเลขาธิการองค์การสหประชาชาติเนื่องในวันลดภัยพิบัติสากล เวทีเสวนาเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการจัดการภัยพิบัติ การให้ความช่วยเหลือประเทศอาเซียนเมื่อเกิดภัยพิบัติ บทบาทสื่อมวลชนในด้านการจัดการภัยพิบัติ การดำเนินงานตามแผนงาน AADMER ของหน่วยงานภาคีเครือข่าย การเตรียมความพร้อมของท้องถิ่นและประชาชนเพื่อรับมือภัยพิบัติ และบทบาทของภาคธุรกิจประกันภัย กิจกรรม "World cafe" ระดมสมองเสนอแนวคิดในการปรับปรุงการทำงานร่วมกัน รวมถึงการสาธิตรถจำลองสถานการณ์แผ่นดินไหว กล่าวได้ว่า การจัดงานเนื่องในวันจัดการภัยพิบัติของอาเซียนและวันลดภัยพิบัติสากลถือเป็นกิจกรรมหนึ่ง ที่ช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงเป็นการเสริมสร้างการเรียนรู้และความตระหนักด้านการจัดการภัยพิบัติแก่กลุ่มเป้าหมายในทุกระดับ อันจะนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยอย่างยั่งยืน