กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อธิการบดีมธ. ลงนามMOU ร่วมกับประธานสอท. ขับเคลื่อนนวัตกรรม งานวิจัยและบุคลากร สอดคล้องกับการเติบโตของภาคธุรกิจ พร้อมยกระดับ ธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา มุ่งสู่บทบาทสำคัญสนับสนุนนิคมอุตสาหกรรมในEEC
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ลงนามบันทึกความเข้าใจ(MOU) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) สร้างความร่วมมือ4 ด้าน ได้แก่ การทำวิจัยและการพัฒนา,การฝึกอบรมบุคลากรและนักศึกษา, การผลักดันผลงานด้านวิชาการที่สำเร็จออกสู่สังคมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้ง การสนับสนุนและพัฒนาโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) โดยพิธีลงนามจัดขึ้น ณ ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำที่มีเป้าหมายสร้าง"ผู้นำรุ่นใหม่" มั่นใจว่าMOU ความร่วมมือกับสอท.ครั้งนี้ เป็นมิติใหม่ในการสร้างเครือข่ายการพัฒนาบัณฑิตและบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ อีกทั้งช่วยยกระดับงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ควบคู่กับการผลักดันให้ "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา"ยกระดับเป็นสถาบันการศึกษาที่มีบทบาทสนับสนุนโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ในอนาคต
"การลงนามMOU ถือเป็นการตอกย้ำเป้าหมายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มุ่งปลูกฝังนักศึกษาให้มีจิตวิญญาณและทักษะความเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในอนาคต โดยผ่านความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรที่หลากหลาย งานวิจัยและนวัตกรรมก้าวล้ำหน้า"
รศ.เกศินี กล่าวอีกว่าในส่วนของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยานับว่ามีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางวิจัยพัฒนารองรับการเติบโตของEEC ในอนาคต ระบบการเรียนการสอนปัจจุบันยังสอดรับกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นสาขาวิศวกรรมเทคโนโลยียานยนต์ ซอฟแวร์ ประกอบกับพื้นที่กว้างใหญ่ถึง565 ไร่ สามารถขยายการผลิตบุคลากรสาขาวิชาที่ขาดแคลนจึงนับเป็นโอกาสอันดีที่จะมีความมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสอท.ในอนาคต เพื่อผลิตบุคลากรให้สอดรับกับความต้องการของตลาด พร้อมกับยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น
ทั้งนี้อนาคตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสอท.จะร่วมมือกันสร้างหลักสูตรและเชื่อมโยงการเรียนการสอนระหว่างกัน โดยใช้ศูนย์พัทยาเป็นฐาน รวมถึงการเปิดให้สถานประกอบการเป็นสถานที่ฝึกงาน เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ ซึ่งปัจจุบันบางคณะของมหาวิทยาลัยก็ได้เชื่อมโยงกับบริษัทชั้นนำอยู่แล้วในการให้เป็นสถานที่ฝึกงาน ซึ่งทั้งนักศึกษาและผู้ประกอบการต่างพอใจ เพราะช่วยยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน และนักศึกษาบางคนก็ทำงานต่อในสถานประกอบการนั้นหลังเรียนจบด้วย
นอกจากนี้ยังมีแนวคิดว่าศูนย์พัทยาควรต้องเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาสุขภาพพลานามัยผู้สูงอายุด้วย ซึ่งพื้นที่มีมากพอที่จะทำได้ ในอนาคตมีโครงการสร้างโรงพยาบาลที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรม เพื่อให้บริการกับผู้บริหารรวมถึงพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่บริเวณใกล้เคียง
"หลังจากนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสอท.จะร่วมกันพัฒนาความฝัน ความหวัง และความต้องการในการพัฒนาประเทศ สนับสนุนให้อุตสาหกรรมมีขีดความสามารถในการแข่งขัน ขณะเดียวกันผู้คนก็ได้รับการดูแลที่เท่าเทียม และมีคุณภาพ"
ด้านนายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.)กล่าวว่า สอท.มีความยินดีที่ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งเสริมและสนับสนุนระบบศึกษาไม่ว่าจะเป็นด้านงานวิจัย ฝึกอบรม หรือการพัฒนาบัณฑิตที่เชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งปัจจุบันสอท.มีสมาชิกทั้งหมด45 สาขา โดยMOU ฉบับนี้จะสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการ รวมถึงผลิตบุคลากรที่ตรงกับความต้องการได้มากยิ่งขึ้น
"ปัจจุบันเราขาดแคลนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อทิศทางการเติบโตของประเทศ โดยเฉพาะโครงการEEC ที่กำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก ดังนั้นความร่วมมือครั้งนี้ นอกจากแก้ปัญหาบุคลากรขาดแคลนแล้ว ยังสนับสนุนนักศึกษาฝึกปฏิบัติงาน ได้ประสบการณ์จริง มีความเชี่ยวชาญ มีคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมในอนาคต"
นายสุพันธ์ กล่าวต่อว่า ความมือในครั้งนี้เป็นการตอบโจทย์ภาคเอกชนอย่างแท้จริง เพราะเอกชนต้องแข่งขัน และยังต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจัยนี้สร้างทั้งปัญหาและโอกาสไปพร้อมกัน ดังนั้นจึงมั่นใจว่าการจับมือกันกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะเป็นโอกาสทำให้อุตสาหกรรมของไทยเข้มแข็ง
โดยปัจจุบันรัฐบาลเองก็สนับสนุนโครงการ EEC อย่างเต็มที่ ขณะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็มีพื้นที่ และองคาพยพที่จะมาช่วยขับเคลื่อนได้ ซึ่งสอท.มี 15กลุ่มอุตสาหกรรม รวมถึงชิ้นส่วนยานยนต์ 12คลัสเตอร์ และ 9สถาบันที่จะขับเคลื่อนไปด้วยกันในพื้นที่นี้ ทั้งยังมีสภาอุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัด รวมถึงในพื้นที่ EECจึงนับเป็นโอกาสดีที่จะร่วมมือกันระหว่างทุกภาคส่วน ทั้งเอกชน รัฐ และสถาบันการศึกษาในการขับเคลื่อนประเทศไปพร้อมกัน